กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดงาน “Thai Tech EXPO 2017” ภายใต้แนวคิด : “เทคโนโลยีไทย…ก้าวไกลสู่ไทยแลนด์ 4.0” มีวัตถุประสงค์เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในฐานะทรงเป็น “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย” และเป็นเวทีในการเผยแพร่ผลงานวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของคนไทย ที่จะพัฒนาต่อยอดไปสู่เชิงพาณิชย์ โดยบูรณาการการทำงานร่วมกันของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ สถาบันการศึกษา หน่วยงานเครือข่าย และหน่วยงานพันธมิตรต่างๆ โดยมี ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานเปิดงาน โดยงานจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 – 24 กันยายน 2560 ณ ฮอลล์ 105-106 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา
งาน “Thai Tech EXPO 2017” เป็นการรวม 3 งานใหญ่ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาไว้ในงานเดียว ได้แก่ งาน Thailand Tech Show งาน TechoMart และงาน NSTDA Investors’ Day สำหรับกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย 4 โซนหลัก ได้แก่ โซน TechnoMart โซนนิทรรศการเทคโนโลยีชุมชน : หมู่บ้านนวัตกรรม (Inno-Village) โซนนิทรรศการเทคโนโลยีเครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ และสิ่งประดิษฐ์ ที่สามารถนำไปใช้ได้จริงทั้งในระดับครัวเรือน ระดับชุมชน ตลอดจนในเชิงเศรษฐกิจระดับวิสาหกิจและผู้ประกอบการขนาดใหญ่ โซนนิทรรศการแสดงผลงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม จำนวน 6 คลัสเตอร์ ได้แก่ กลุ่มเทคโนโลยีด้านอาหาร (Food Technology) กลุ่มเทคโนโลยีทางการแพทย์ (Medical Technology) กลุ่มเทคโนโลยีแห่งอนาคต (Future Technology) กลุ่มโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ (National Quality Infrastructure: NQI) กลุ่มคูปองวิทย์เพื่อโอทอป (STI for OTOP) และกลุ่มเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy)
ในปีนี้ ไบโอเทค จัดแสดงข้อมูลและบริการของศูนย์ชีววัสดุประเทศไทย (TBRC) ทำหน้าที่เป็นศูนย์เก็บรวมรวมและรักษาชีววัสดุต่างๆ ตลอดจนให้บริการด้านจุลินทรีย์แบบครบวงจร โดยชีววัสดุเหล่านี้เป็นทรัพยากรที่ทรงคุณค่าสามารถนำไปพัฒนาและประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมชีวภาพได้ พร้อมกันนี้ได้จัดแสดงเทคโนโลยีพลังงานและเคมีชีวภาพ (Biorefinery) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการเปลี่ยนวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรเป็นสารมูลค่าสูง ผ่านกระบวนการทางเคมีและชีวภาพ โดยจัดแสดงในโซนเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy)
นอกจากนี้ ได้นำผลงานวิจัยเรื่อง ฟลาวมันสำปะหลัง ทางเลือกใหม่ ไร้กลูเตน ซึ่งไบโอเทค และสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร (KAPI) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกันพัฒนากระบวนการผลิตฟลาวมันสำปะหลังในระดับอุตสาหกรรม จากมันสำปะหลังชนิดขมที่มีปริมาณไซยาไนด์สูง โดยพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตโดยใช้เครื่องจักรกลที่ประยุกต์มาจากกระบวนการผลิตแป้งมันสำปะหลัง ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในการผลิตและสามารถทำการผลิตเป็นจำนวนมากได้ ซึ่งฟลาวมันสำปะหลังที่ผลิตได้สามารถตอบโจทย์อุตสาหกรรมขนมอบเบเกอรี่ และอุตสาหกรรมขนมขบเขี้ยว โดยสามารถใช้ทดแทนแป้งสาลี พร้อมกันนี้ยังมีคุณสมบัติพิเศษคือปราศจากกลูเตน ซึ่งเหมาะกับผู้บริโภคที่แพ้โปรตีนข้าวสาลีหรือกลูเตน และผู้ป่วยที่เป็นโรคซีลิแอค
สำหรับงาน Thailand Tech Show 2017 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “อินโนฟิวชั่น : เสริมพลังธุรกิจด้วยวิทย์และนวัตกรรม (INNO-FUSION : Power Up Business with STI)” เพื่อเป็นเวทีนำเสนอผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ที่พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีและต่อยอดเชิงพาณิชย์ของ สวทช. และเครือข่ายพันธมิตรทั่วประเทศ โดยมีผลงานร่วมจัดแสดงมากกว่า 350 ผลงาน