ดร.กัลยาณ์ แดงติ๊บ หัวหน้าห้องปฏิบัติการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกุ้งและเชื้อก่อโรค หน่วยวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพสัตว์ ได้รับทุนวิจัยจาก Newton Fund, Institutional Links เพื่อดำเนินงานวิจัยเรื่อง “An International Network for Shrimp Health (INSH) to Bridge the Gap Between Cutting-Edge Research, Policy and the Farmer” ซึ่งเป็นโครงการวิจัยร่วมระหว่างประเทศไทย ได้แก่ ไบโอเทค คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กรมประมง และ สมาคมผู้เลี้ยงกุ้งทะเลไทย กับสหราชอาณาจักร ได้แก่ Center for Environment, Fisheries and Aquaculture Science (Cefas) และ University of Exeter
“An International Network for Shrimp Health (INSH) to Bridge the Gap Between Cutting-Edge Research, Policy and the Farmer” เป็นโครงการที่มุ่งจัดตั้ง International Network for Shrimp Health (INSH) เพื่อพัฒนาเครือข่ายการตรวจวินิจฉัยโรคกุ้ง พร้อมกับศึกษาวิจัยการเกิดการระบาดของโรค Enterocytozoon hepatopenaei (EHP) โรค white feces syndrome (WFS) และ พัฒนาการตรวจหาเชื้อ infectious hypodermal and hematopoietic necrosis virus (IHHNV) อีกทั้งสามารถสร้างเครือข่ายเพื่อเฝ้าระวังการระบาดของโรคกุ้งในอนาคต
ภายใต้ทุนนี้ หน่วยงานจากประเทศไทย นำโดย ดร.กัลยาณ์ แดงติ๊บ ได้ทำวิจัยร่วมกับสหราชอาณาจักร นำโดย Dr. Grant D. Stentiford โดยได้รับทุนสนับสนุนจำนวน 75,000 ปอนด์ (GBP) หรือประมาณ 3.45 ล้านบาท ในระยะเวลา 2 ปี ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2560 – เดือนเมษายน 2562
ทุนวิจัยภายใต้โปรแกรม Newton Fund, Institutional Links เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และ British Council, สหราชอาณาจักร ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมความร่วมมือในการวิจัยระหว่างนักวิจัยไทยและสหราชอาณาจักร สามารถสร้างผลงานวิจัยที่มีผลกระทบต่อสังคม และก่อเกิดความร่วมมือในระดับสถาบันที่ยั่งยืนต่อไป