เห็ดระโงกกับไม้วงศ์ยาง เพื่อสนองแนวพระราชดำริ กิจกรรมสร้างป่าสร้างรายได้

จากพระราชดำริของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เกี่ยวกับเรื่องทำกินในพื้นที่ป่าไม้ของราษฎร โครงการศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ สำนักวิจัยและพัฒนาการป่าไม้ กรมป่าไม้ จึงได้จัดทำแปลงสาธิตแนวพระราชดำริด้วยการใช้ระบบวนเกษตรมาเป็นต้นแบบในการส่งเสริมอาชีพให้มีการปลูกไม้วงศ์ยาง (Dipterocarpaceae) ได้แก่ ยางนา ตะเคียนทอง กระบาก และศึกษาวิจัยการเพาะเห็ดป่ากินได้กับไม้วงศ์ยางควบคู่กันไป โดยเห็ดป่าเหล่านี้จะเป็นแหล่งอาหารให้กับชุมชน และสร้างรายได้ให้เกษตรกรที่ปลูกไม้วงศ์ยางในรูปแบบวนเกษตรได้ โดยได้เลือกเห็ดระโงกมาใช้ในการศึกษา เนื่องจากเป็นเห็ดที่นิยมรับประทานกันมาก และมีราคาสูง โดยมีราคาขายตามท้องตลาดอยู่ที่กิโลกรัมละ 250-300 บาท และสูงถึง 400-450 บาท ในช่วงนอกฤดูกาล (มกราคม – เมษายน) 

Mushroom1

 เห็ดระโงก เป็นราไมคอร์ไรซา (mycorrhizas) ที่มีความสัมพันธ์กับไม้วงศ์ยางในลักษณะการอยู่ร่วมกันแบบพึ่งพาอาศัยกัน เอื้ออำนวยประโยชน์ซึ่งกันและกันกับเซลล์ของรากพืช โดยที่ต่างฝ่ายก็ได้รับประโยชน์ (mutualistic symbiosis) ราจะช่วยดูดน้ำและธาตุอาหารจากดิน โดยเฉพาะฟอสฟอรัส (P) ให้แก่พืช ส่วนราก็ได้สารอาหารจากพืชที่ขับออกมาทางรากสำหรับใช้ในการเจริญเติบโต เช่น น้ำตาล โปรตีนและวิตามินต่างๆ นอกจากนี้ราไมคอร์ไรซายังช่วยป้องกันรากพืชจากการเข้าทำลายของเชื้อก่อโรคพืช ต้นกล้าที่มีราไมคอร์ไรซาจึงมีการอยู่รอดมากกว่าพืชที่ไม่มีราไมคอร์ไรซา เพราะสามารถทนแล้ง และธาตุอาหารต่ำได้ดีกว่าต้นกล้าที่ไม่มีราไมคอร์ไรซา และเมื่อความชื้นและปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ เหมาะสม ราไมคอร์ไรซาจะเจริญและพัฒนาเป็นดอกเห็ดให้เห็นได้ ไบโอเทค สวทช. ร่วมกับ สำนักวิจัยและพัฒนาการป่าไม้ กรมป่าไม้ ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยสิ่งแวดล้อมต่อผลผลิตของเห็ดระโงกทั้งในและนอกฤดูกาล ณ แปลงสาธิตโครงการศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ ในช่วงปี 2557 -2558 พบว่า ปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดเห็ดระโงก ได้แก่ ปริมาณแสง ความชื้นบริเวณผิวดิน อุณหภูมิและความชื้นในอากาศ รวมถึงความหนาแน่นของอินทรียวัตถุเหนือพื้นดิน และจากการสำรวจประชากรเห็ด พบว่า เห็ดระโงกเป็นเห็ดที่ให้ผลผลิตสูงสุดในแปลง โดยสามารถพบเห็ดระโงกถึง 3 ชนิด คือ ระโงกแดง ระโงกเหลือง และระโงกขาว นอกจากนี้ในแปลงสาธิตดังกล่าวยังพบเห็ดกินได้ชนิดอื่นๆ เช่น เห็ดถ่าน เห็ดหาด เห็ดครก เห็ดโคน และ เห็ดตะไคล อีกด้วย ซึ่งการออกดอกของเห็ดระโงกนั้นมีความสอดคล้องกับปริมาณน้ำฝนในช่วงต้นฤดูเป็นอย่างมาก โดยพบว่าในช่วงเดือน มิถุนายน – กรกฎาคม จะพบปริมาณเห็ดระโงกเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้การให้น้ำนอกฤดู ก็มีส่วนทำให้เกิดเห็ดระโงกได้เช่นกัน ซึ่งความรู้ที่ได้จากการศึกษาอิทธิพลของปัจจัยแวดล้อมต่อผลผลิตเห็ดระโงกในครั้งนี้ จะนำไปสู่การปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมต่อการออกดอกของเห็ดระโงก ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อชุมชนทั้งด้านอาหารและรายได้ นอกจากนี้ ไบโอเทค สวทช. ยังนำเอาความรู้ด้านการจำแนกเห็ดโดยใช้สารพันธุกรรม DNA มาใช้จำแนกเห็ดระโงกที่บริโภคได้กับเห็ดระโงกที่เป็นพิษ ซึ่งจัดอยู่ในสกุลเดียวกันคือสกุล Amanita จึงมีลักษณะใกล้เคียงกันมาก และมักสับสนในการจำแนก ดังนั้นการส่งเสริมการปลูกกล้าไม้ติดเชื้อเห็ดระโงกที่บริโภคได้ในพื้นที่ และการให้ความรู้ในการจัดจำแนกและแยกแยะความแตกต่างของเห็ดระโงกที่รับประทานได้และไม่ได้ จึงช่วยลดโอกาสเสี่ยงในการบริโภคเห็ดระโงกที่เป็นพิษลงได้ 

Mushroom2

 จากข้อมูลการศึกษาดังกล่าว สำนักวิจัยและพัฒนาการป่าไม้ ได้พัฒนาต่อยอดองค์ความรู้นี้ไปยังสถานีวนวัฒนวิจัยหนองคู จ.สุรินทร์ โดยการส่งเสริมให้มีการปลูกกล้าไม้ติดเชื้อเห็ดระโงก ส่งผลให้คนหันมามีส่วนร่วมในการปลูกต้นไม้และอนุรักษ์ป่า ลดการบุกรุกทำลายป่าลง เนื่องจากมูลค่าจากผลผลิตที่ได้จากเห็ดที่อาศัยต้นไม้ มีค่าต่อเนื่องยั่งยืนมากกว่าการตัดโค่นต้นไม้เพื่อขายทำเงินเพียงครั้งเดียว โดยชาวบ้านสามารถเข้ามาเก็บเห็ดระโงก หรือของป่าอื่นๆ ไปขายตามตลาดชุมชน เพื่อหารายได้จุนเจือครอบครัว เป็นการช่วยกระจายรายได้ให้แก่ประชาชนในชนบท ช่วยให้คนในชุมชนตระหนักและมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ป่าไม้ ช่วยให้การส่งเสริมปลูกป่าฟื้นฟูมีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้น