เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2560 กรมการข้าว ได้ประกาศรับรองพันธุ์ข้าวเจ้าใหม่ ได้แก่ ข้าวเจ้า กข73 ข้าวเจ้าหอม ทนดินเค็มและต้านทานโรคไหม้ และ ข้าวเจ้า กข75 ต้านทานโรคไหม้ โดยข้าวพันธุ์ใหม่นี้เป็นผลงานวิจัยร่วมระหว่างศูนย์วิจัยข้าวอุบลราชธานี กรมการข้าว และ สวทช. โดย ไบโอเทค ซึ่งได้ดำเนินการพัฒนาพันธุ์ข้าวให้มีเสถียรภาพในการให้ผลผลิต ต้านทานโรค ทนต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม และยังคงคุณภาพการหุงต้มที่ดี พันธุ์ กข73 ข้าวเจ้าหอม ทนดินเค็มและต้านทานโรคไหม้ เป็นการผสมพันธุ์ระหว่างพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 ที่มีคุณภาพการหุงต้มและรับประทานดี มีกลิ่นหอม กับสายพันธุ์ IR66946-196-3R-1-1 ที่มีความทนต่อดินเค็มและต้านทานโรคไหม้ โดยใช้เครื่องหมายโมเลกุลที่เกี่ยวข้องกับยีนทนเค็มและต้านทานโรคไหม้และคุณภาพหุงต้มในการคัดเลือกร่วมกับการปรับปรุงพันธุ์แบบวิธีมาตรฐาน โดยเริ่มผสมพันธุ์ที่ศูนย์วิจัยข้าวอุบลราชธานี กรมการข้าว และใช้เครื่องหมายโมเลกุลช่วยในการคัดเลือก จากนั้นนำกลับไปปลูกทดสอบการให้ผลผลิต การปรับตัว และความทนเค็ม และต้านทานโรคไหม้ จนได้พันธุ์ข้าวเจ้าทนดินเค็มและต้านทานโรคไหม้ เหมาะกับการปลูกในพื้นที่ดินเค็มและมีการระบาดของโรคไหม้ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ลักษณะเด่น:
- เป็นข้าวเจ้าไวต่อช่วงแสง ปรับตัวและทนทานดินเค็มได้ดีกว่าพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105
- ต้านทานต่อโรคไหม้ในระยะกล้าในหลายพื้นที่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือตอนบน
- คุณภาพเมล็ดทางกายภาพและการสีดี คุณภาพการหุงต้มและรับประทานดี ข้าวสวยไม่ร่วน ไม่แข็ง ค่อนข้างนุ่ม และมีกลิ่นหอม
ข้อควรระวัง:
- อ่อนแอต่อโรคไหม้คอรวง โรคขอบใบแห้ง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพลี้ยกระโดดหลังขาว และแมลงบั่ว
พันธุ์ กข75 ต้านทานโรคไหม้ เป็นการผสมพันธุ์ระหว่างพันธุ์ IR77955-24-75-284 ซึ่งมีคุณภาพการหุงต้มใกล้เคียงกับข้าวขาวดอกมะลิ 105 กับพันธุ์ DHL279 (พันธุ์ที่พัฒนาจากคู่ผสมระหว่างเจ้าหอมนิลและขาวดอกมะลิ 105) ที่มียีนต้านทานโรคไหม้ โดยใช้เครื่องหมายโมเลกุลที่เกี่ยวข้องกับยีนต้านทานต่อโรคไหม้และคุณภาพหุงต้มในการคัดเลือกร่วมกับการปรับปรุงพันธุ์แบบวิธีมาตรฐาน จากนั้นดำเนินการปลูกทดสอบการให้ผลผลิต การปรับตัว และความต้านทานโรคไหม้ ณ ศูนย์วิจัยข้าวอุบลราชธานี กรมการข้าว เพื่อพัฒนาพันธุ์ข้าวที่เหมาะสำหรับปลูกในพื้นที่นาน้ำฝนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลักษณะเด่น:
- ต้านทานต่อโรคไหม้ เหมาะสำหรับปลูกในพื้นที่นาน้ำฝนที่เป็นที่ดอนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
- มีอายุเบากว่าพันธุ์ กข15 ประมาณ 5 วัน ผลผลิตสูง
- คุณภาพการหุงต้มและรับประทานดี
ข้อควรระวัง:
- อ่อนแอต่อโรคไหม้คอรวง โรคขอบใบแห้ง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพลี้ยกระโดดหลังขาว หนอนกอ และแมลงบั่ว