ไบโอเทคจัดบรรยายและเสวนาพิเศษ เรื่อง “การขออนุญาตและกระบวนการให้อนุญาตเพื่อการศึกษาหรือวิจัยทางวิชาการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์”

เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2560 ไบโอเทคจัดบรรยายและเสวนาพิเศษเรื่อง “การขออนุญาตและกระบวนการให้อนุญาตเพื่อการศึกษาหรือวิจัยทางวิชาการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์” ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักวิจัยและบุคลากรทั่วไปได้ทราบเกี่ยวกับกฎหมาย วิธีปฏิบัติ และขั้นตอนต่างๆ ในการเข้าถึงและการแบ่งปันผลประโยชน์จากการเก็บตัวอย่างและนำทรัพยากรชีวภาพที่ได้จากพื้นที่ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช มาทำการศึกษาวิจัยและการนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ โดยมี ดร.ลิลี่ เอื้อวิไลจิตร รองผู้อำนวยการไบโอเทคเป็นประธานกล่าวเปิดงาน 

1

 โดยการบรรยายและเสวนาพิเศษได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิจากกรมอุทยานฯ มาเป็นวิทยากรในการบรรยายให้ความรู้ในหัวข้อต่างๆ เช่น “การขออนุญาตและกระบวนการให้อนุญาตเพื่อการศึกษาหรือวิจัยทางวิชาการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์” โดยคุณธิติ กนกทวีฐากร อดีตผู้ตรวจราชการกรมอุทยานฯ ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช “การดำเนินงานด้านการเข้าถึงทรัพยากรและการแบ่งปันผลประโยชน์ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธ์ุพืช” โดยคุณมนัส รวดเร็ว ผู้อำนวยการส่วนความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช และ “หลักเกณฑ์การขออนุญาตเข้าไปทำการศึกษาหรือวิจัยทางวิชาการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์” โดยคุณจิรพรรณ โสภี เจ้าหน้าที่ ฝ่ายประสานความร่วมมือทางวิชาการส่วนความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช 

2
3

 ปัจจุบัน มีนักวิจัยและนักวิชาการจำนวนมาก ทั้งไทยและต่างประเทศ มีความประสงค์ขออนุญาตเข้าพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพื่อทำการศึกษาวิจัย ในการนี้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จึงแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาโครงการศึกษาวิจัยทางวิชาการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ (ศวป.) เพื่อพิจารณาการขอเข้าทำวิจัยในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และประเด็นวิชาการที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ การบริหารจัดการงานด้านวิชาการ และการพิจารณาการอนุญาตศึกษาวิจัยทางวิชาการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ภายใต้กฎและระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัยของชาติ พร้อมทั้งมอบหมายให้ฝ่ายประสานความร่วมมือทางวิชาการ เป็นหน่วยประสานงานการขออนุญาตเข้าทำการศึกษาหรือวิจัยทางวิชาการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์