งานประชุมวิชาการประจำปี สวทช. (NAC 2017)

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2560 สวทช. ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานเปิดงาน และทอดพระเนตรนิทรรศการ งานประชุมวิชาการประจำปี สวทช. ครั้งที่ 13 ภายใต้ห้วข้อ “สวทช. ยุคใหม่ ตอบกลุ่มเป้าหมาย ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอผลงานวิจัยของ สวทช. ที่เป็นรูปธรรมทั้งการนำไปใช้ประโยชน์ และผลงานวิจัยที่เป็นการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อสร้างความเจริญให้กับประเทศ ในปีนี้มุ่งเน้นการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปใช้เพื่อการขับเคลื่อนประเทศตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อเป็นการถวายสดุดีและเทอดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 นอกจากนี้ยังเป็นการนำเสนอผลงานวิจัยตามกลุ่มยุทธศาสตร์มุ่งเน้นของ สวทช. โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 มีนาคม – 1 เมษายน 2560 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี 

NAC2017 1

 ภายในงานประกอบไปด้วยกิจกรรมต่างๆ เช่น การประชุมวิชาการ การแสดงนิทรรศการงานวิจัย การเปิดบ้าน สวทช. ต้อนรับภาคเอกชนเข้ามาเยี่ยมชม และมหกรรมรับสมัครงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (S&T Job Fair)
ในปีนี้ ไบโอเทค นำผลงานวิจัยร่วมจัดแสดงนิทรรศการ NAC 2017 อาทิ

  • การขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหาร Food Innovation ซึ่งเป็นการนำเสนอผลงานวิจัยภาพรวมด้านอาหาร ของ สวทช. โดยแบ่งหมวดหมู่งานวิจัยให้สามารถเข้าใจได้ง่าย เช่น สารอาหารที่ให้ประโยชน์เชิงหน้าที่ (Functional Ingredient) ทั้งโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน ชุดตรวจและเครื่องมือตรวจสอบความปลอดภัยในอาหาร (Food Safety) มาตรฐานและข้อกำหนดต่างๆ เกี่ยวกับอุตสาหกรรมอาหาร (Standard and Compliance)
  • งานวิจัยด้านสุขภาพสัตว์ในยุคเกษตรสมัยใหม่ นำเสนองานวิจัย นวัตกรรมการออกแบบวัคซีนจากฐานข้อมูลไวรัสมหภาพของประเทศ และ การตรวจหาเชื้อก่อให้เกิดโรคปอดอักเสบในสุกรโดยใช้เครื่องมือแบบพกพา
  • เทคโนโลยีเพื่อการตรวจสอบเมล็ดพันธุ์เพื่อการส่งออก ได้แก่ การพัฒนาเครื่องหมายโมเลกุลในการตรวจสอบความบริสุทธิ์ของเมล็ดพันธุ์ข้าว และพืชเศรษฐกิจอื่นๆ ตลอดจนการพัฒนาเทคนิคการตรวจวินิจฉัยโรคพืชเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตเมล็ดพันธุ์
  • ความสำเร็จของโครงการปรับปรุงพันธุ์ข้าวด้วยเทคโนโลยีเครื่องหมายโมเลกุลในประเทศเขตลุ่มน้ำโขง ซึ่งเป็นการพัฒนาบุคลากรทั้งในประเทศไทย พม่า ลาว และกัมพูชา ให้สามารถนำเทคนิค Molecular-Assisted Marker (MAS) มาใช้ในการคัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์ข้าวของประเทศให้สามารถต้านทานต่อสภาวะที่ไม่เหมาะสม ทนต่อโรคและแมลงศัตรูพืชได้
  • ผลงานวิจัยด้านไข้เลือดออกของ สวทช. ตั้งแต่การพัฒนาวัคซีนไข้เลือดออกเด็งกี่ การพัฒนาวัคซีนรูปแบบใหม่ด้วย synthetic biology และชุดตรวจโรคไข้เลือดออกที่แยกซีโรทัยป์ของไวรัสเด็งกี่ได้ทันที (DEN-STEP)
NAC2017 2