เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2559 ศูนย์วิจัยและขยายแนวพันธุ์พืชท่าสะโน สปป.ลาว ร่วมกับ สวทช. ห้องปฏิบัติการค้นหาและใช้ประโยชน์ยีนข้าว มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จัด “งานชิมข้าวและประกวดพันธุ์ข้าวใหม่” ณ ศูนย์วิจัยและขยายแนวพันธุ์พืชท่าสะโน สปป.ลาว เพื่อให้เกษตรกรลาวมีส่วนร่วมในการคัดเลือกพันธุ์ข้าวเหนียวที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์ภายใต้โครงการปรับปรุงพันธุ์ข้าวลุ่มน้ำโขงด้วยเทคโนโลยีชีวโมเลกุล (Marker-assisted Selection Technology, MAS) โดยมี ดร.กัญญวิมว์ กีรติกร ผู้อำนวยการไบโอเทค และ ดร. ธีรยุทธ ตู้จินดา หัวหน้าโครงการปรับปรุงพันธุ์ข้าวลุ่มน้ำโขง เข้าร่วมงาน
ภายในงานได้มีการชิมข้าวสายพันธุ์ใหม่ที่ได้จากการปรับปรุงพันธุ์ซึ่งพิจารณาจากสี ความยาวของเมล็ดข้าวสุก ความนุ่ม ความหอม และรสชาติ และการประกวดข้าวสายพันธุ์ใหม่ การสาธิตการทำชาเขียวข้าวหอม และมีการแสดงผลิตภัณฑ์ของหมู่บ้าน
โครงการปรับปรุงพันธุ์ข้าวลุ่มน้ำโขงด้วยเทคโนโลยีชีวโมเลกุล เป็นโครงการภายใต้ความร่วมมือระหว่างไบโอเทค มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี สถาบันวิจัยการเกษตรและป่าไม้แห่งชาติ สปป.ลาว กรมวิชาการเกษตรและชลประทาน สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ และ สถาบันวิจัยและพัฒนาการเกษตร ประเทศกัมพูชา และได้รับงบประมาณสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากหลายหน่วยงานได้แก่ มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ Generation Challenge Programme (GCP) และ สวทช. โครงการนี้ดำเนินการพัฒนาพันธุ์ข้าวของประเทศในประชาคมลุ่มน้ำโขง ผ่านการจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการระยะยาว ซึ่งแต่ละประเทศเลือกปรับปรุงพันธุ์ข้าวของประเทศตนที่ได้รับความนิยมในประเทศ ให้มีคุณลักษณะตรงกับความต้องการและแก้ไขปัญหาของเกษตรกรได้ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการผลิตเมล็ดพันธุ์และกระจายให้กับเกษตรกรในพื้นที่เป้าหมายของแต่ละประเทศ สำหรับ สปป.ลาว โครงการได้ปรับปรุงพันธุ์ข้าวและคัดเลือกพันธุ์สำหรับขยายเมล็ดพันธุ์ 3 สายพันธุ์ได้แก่
- พันธุ์ ข้าว HXBF2 เป็นข้าวเจ้าหอม ทนน้ำท่วม และทนแล้ง ซึ่งได้มีการกระจายเมล็ดพันธุ์ไปแล้วใน 2 พื้นที่ในระหว่างปี 2557-2558
- พันธุ์ข้าวเหนียว Thadokkham1 มีความหอม ผลิตเมล็ดพันธุ์ที่สถาบันวิจัยการเกษตรและป่าไม้แห่งชาติ ที่ได้กระจายเมล็ดพันธุ์ให้กับเกษตรกรใน 4 พื้นที่ในเวียงจันทน์ในปี 2558
- พันธุ์ข้าวเหนียว Thadokkham 1 มีความหอม ทนน้ำท่วมและต้านทานโรคไหม้ 6 สายพันธุ์ ผลิตเมล็ดพันธุ์ที่ศูนย์วิจัยและขยายแนวพันธุ์พืชท่าสะโน ในปี 2558 และได้คัดเลือกเหลือ 3 สายพันธุ์ (LGCP1, LGCP2, LGCP3) ที่จะขยายเมล็ดพันธุ์ในปี 2559