กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับมูลนิธิกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จัดงานมอบรางวัล DMSc Award เพื่อเชิดชูผู้ที่สร้างสรรค์ผลงานดีเยี่ยมทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ส่งเสริมงานด้านสาธารณสุข โดยในงานนี้มีผลงานวิจัยไบโอเทคได้รับรางวัล 2 เรื่อง ได้แก่ เรื่อง “กรรมวิธีการตรวจหาและจำแนกเชื้อมาลาเรียในตัวอย่างเลือดด้วยเทคนิคแลมป์ร่วมกับเทคนิคแอลเอฟดี” และเรื่อง “Plasmodium serine hydroxymethyltransferase for anti-malarial drug development” โดยคณะนักวิจัยได้เข้ารับพระราชทานรางวัลจาก สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2559 ณ อาคารอิมแพค ฟอรั่ม เมืองทองธานี ในงานประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ ครั้งที่ 24
ผลงานวิจัยเรื่อง “กรรมวิธีการตรวจหาและจำแนกเชื้อมาลาเรียในตัวอย่างเลือดด้วยเทคนิคแลมป์ร่วมกับเทคนิคแอลเอฟดี” ได้รับรางวัลชนะเลิศ ประเภทการพัฒนาคุณภาพการบริการทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งผลงานดังกล่าวเป็นการพัฒนาเทคนิค “LAMP-LFD” สำหรับการตรวจหาเชื้อมาลาเรีย พลาสโมเดียม ฟัลซิปารัม (Plasmodium falciparum) และ พลาสโมเดียม ไวแวกซ์ (Plasmodium vivax) ในตัวอย่างเลือดของผู้ป่วยโรคมาลาเรีย เพื่อให้สามารถใช้งานได้ง่าย สามารถอ่านผลได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว ชุดตรวจนี้ใช้เวลาในการตรวจรวมทั้งสิ้นเพียง 55 นาที ไม่ต้องอาศัยอุปกรณ์หรือเครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่มีราคาแพง และไม่จำเป็นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ซึ่งสามารถนำไปใช้ทดสอบในพื้นที่จริงที่มีการระบาดได้ทันที โดยผลงานนี้เป็นการร่วมวิจัยของคณะวิจัยไบโอเทค นำโดย ดร. สุกัญญา ยงเกียรติตระกูล ดร. ดารินทร์ คงคาสุริยะฉาย คุณวรรณสิกา เกียรติปฐมชัย คุณณรงค์ อรัญรุตม์ คุณวันเสด็จ เจริญรัมย์ คุณวรรณวิสาข์ เจริญฉิม ดร. วิชัย พรธนเกษม และมหาวิยาลัยมหิดล โดย คุณสุพิชฌาย์ ปั้นเหน่งเพ็ชร
ผลงานวิจัย “Plasmodium serine hydroxymethyltransferase for anti-malarial drug development” ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ ประเภทงานวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งผลงานดังกล่าวเป็นการค้นพบโปรตีนเป้าหมายตัวใหม่ ซีรีน ไฮดรอกซีเมทิลทรานสเฟอเรส (serine hydroxymethyltransferase) หรือ SHMT โดยการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ SHMT นี้ส่งผลให้เชื้อมาลาเรียตาย ซึ่งเอนไซม์ SHMT ของเชื้อมาลาเรียมีลักษณะจำเพาะที่แตกต่างจากเอนไซม์ SHMT ของสิ่งมีชีวิตอื่นรวมถึงคนด้วย จึงมีศักยภาพในการนำมาพัฒนาออกแบบสารยับยั้ง เพื่อใช้ในการรับมือกับการดื้อยาของเชื้อมาลาเรียในอนาคต โดยผลงานดังกล่าวเป็นการทำงานร่วมกันของคณะนักวิจัยไบโอเทค นำโดย ดร. อุบลศรี เลิศสกุลพาณิช กับคณะนักวิจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยบูรพา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมิชิแกน แอนน์อาร์เบอร์ (University of Michigan, Ann Arbor) สถาบัน California Institute for Biomedical Research (Calibr) ประเทศสหรัฐอเมริกา บริษัท BASF ประเทศเยอรมนี สถาบัน Swiss Tropical and Public Health Institute (Swiss TPH) Universität Basel สถาบัน ETH Zurich ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ บริษัท GlaxoSmithKline ประเทศสเปน สถาบัน Monash Institute of Pharmaceutical Sciences ประเทศออสเตรเลีย และ National Synchrotron Radiation Research Center ประเทศไต้หวัน
งานประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ ครั้งที่ 24 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-23 มีนาคม 2559 ภายใต้หัวข้อ “Smart Medical Sciences Smart Life : ใช้ชีวิตอย่างชาญฉลาด ด้วยวิทยาศาสตร์การแพทย์” ซึ่งในปีนี้ได้รับความสนใจจากนักวิชาการและผู้ที่เกี่ยวข้องส่งผลงานวิชาการเข้าร่วมกว่า 170 เรื่อง นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติจากวิทยากรที่เชี่ยวชาญทางด้านต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ มาร่วมบรรยายพิเศษในงานประชุมวิชาการครั้งนี้ด้วย