AI สำหรับการควบคุมสภาพแวดล้อมและการเจริญเติบโต เพื่อการผลิตพืชและการสร้างความมั่นคงทางอาหารและยาอย่างยั่งยืน

โลกมีความจำเป็นต้องการพัฒนาขีดความสามารถทางเทคโนโลยีในการผลิตพืชเพื่อให้เพียงพอต่อประชากรที่เพิ่มขึ้น และต้องต่อสู้กับวิกฤตด้านสภาพแวดล้อมที่แปรปรวนและส่งผลกระทบต่อการผลิตพืช เทคโนโลยีการผลิตพืชภายใต้สภาพแวดล้อมควบคุม เช่น โรงงานผลิตพืช (plant factory) และโรงเรือนอัจฉริยะ (smart greenhouse) ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อตอบโจทย์ในการผลิต โดยมีจุดมุ่งหมาย เพื่อผลิตให้ได้มากขึ้นในเวลาที่น้อยลง  ใช้ทรัพยากรการผลิตให้มีประสิทธิภาพ และเป็นระบบการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (produce more with less resources and eco-friendly)

ระบบควบคุมสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตด้วยฐานข้อมูล ระบบอัตโนมัติ และปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญในการเพิ่มผลผลิตและใช้ทรัพยากรการผลิตให้น้อยลง ตลอดจนการควบคุมคุณภาพของการผลิต เนื่องจาก AI สามารถช่วยในงานประมวลผลภาพ วิเคราะห์ข้อมูลที่มีความซับซ้อนและหลากหลายมิติ เพื่อค้นหากระบวนการผลิตที่เหมาะสมที่สุดทั้งทางด้านการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิต การควบคุมคุณภาพ และการควบคุมด้านความปลอดภัย

ตัวอย่างการควบคุมการเจริญเติบโต และการสร้างสารสำคัญในพืชสมุนไพร ระบบควบคุมการผลิตด้วย AI ผ่านการตรวจติดตามพืชด้วยการประมวลผลภาพถ่าย (image processing) เพื่อบ่งชี้อัตราการเจริญเติบโตพืชแบบต่อเนื่อง และข้อมูลสภาพแวดล้อมที่สำคัญต่อการเจริญเติบโต AI สามารถวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของสภาพแวดล้อมกับการเจริญเติบโต และสามารถสร้างชุดคำสั่งในการเร่งหรือชะลอการเจริญเติบโต ที่สัมพันธ์กับการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า

การตรวจติดตามพืชด้วยภาพถ่ายแบบต่อเนื่อง สามารถใช้ตรวจจับอาการผิดปกติของพืช เช่น ใบเหลือง หรือ ใบไหม้ จากนั้นวิเคราะห์ปรับแต่งสภาพแวดล้อม เพื่อแก้ไขและป้องกันอาการผิดเกี่ยวข้อง นอกจากนี้การพัฒนาการตรวจประเมินสารสำคัญในพืชจากภาพถ่ายและการปรับแต่งสภาพแวดล้อมในการกระตุ้นการสร้างสารสำคัญ ด้วย AI จะเสริมสร้างมิติใหม่ในการผลิตพืชสมุนไพรหรือผักมูลค่าสูง ภายใต้สภาพแวดล้อมควบคุมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ผลงานโดยทีมวิจัยเทคโนโลยีเกษตรดิจิทัล (DAT) NECTEC สวทช. และทีมวิจัยนวัตกรรมโรงงานผลิตพืชสมุนไพร (APFT) BIOTEC สวทช.

อ่านเพิ่มเติมได้ที่

https://nac2025-egaqakbcaefndxhx.southeastasia-01.azurewebsites.net/nac/2025/exhibitions/bpe38/