ดร. วีระพงษ์ วรประโยชน์ นักวิจัย ทีมวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพทางอาหาร กลุ่มวิจัยส่วนผสมฟังก์ชั่นและนวัตกรรมอาหาร ได้รับรางวัล Ajinomoto-FoSTAT Awards สำหรับนักวิจัยดีเด่นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหาร ประจำปี พ.ศ. 2564 ประเภทYoung Food Scientist Award จากสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารแห่งประเทศไทย ภายใต้งานวิจัยเรื่อง “การค้นพบและพัฒนาเปปไทด์ต้านจุลชีพจากแบคทีเรียกรดแลคติกและโปรตีนอาหาร สำหรับการประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร”
งานวิจัยดังกล่าว เป็นการค้นพบเปปไทด์ต้านจุลชีพจากแบคทีเรียกรดแลคติกและโปรตีนอาหาร โดยมุ่งเน้นการค้นหาเปปไทด์ต้านจุลชีพหรือแบคเทอริโอซินจากแบคทีเรียกรดแลคติกที่แยกได้จากอาหารหมักของไทย ซึ่งได้มีการค้นพบแบคเทอริโอซินชนิดใหม่ 2 ชนิด (Bacteriocin 7293A และ Bacteriocin 7293B) ที่มีคุณสมบัติยับยั้งแบคทีเรียและแตกต่างจากแบคเทอริโอซินอื่นที่ถูกรายงานมาก่อนหน้านี้ โดยมีการพัฒนาพลาสมิดลูกผสมสำหรับใช้ผลิตแบคเทอริโอซิน เพื่อเพิ่มอัตราการผลิตแบคเทอริโอซินให้สูงขึ้น ตลอดจนการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตแบคเทอริโอซินโดยใช้วัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร เช่น เปลือกผลไม้ เพื่อใช้เป็นส่วนประกอบหนึ่งของอาหารเลี้ยงเชื้อแบคทีเรียกรดแลคติกเพื่อเพิ่มผลผลิตแบคแทอริโอซิน จนกระทั่งสามารถพัฒนาเป็นต้นแบบบรรจุภัณฑ์สัมผัสอาหารต้านจุลชีพที่มีส่วนผสมของแบคเทอริโอซิน เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับอาหารและยืดอายุการเก็บรักษาอาหาร
นอกจากนี้ยังค้นพบเปปไทด์ต้านจุลชีพชนิดใหม่จากโปรตีนไข่ขาวจำนวน 5 เปปไทด์ และประสบความสำเร็จในการปรับปรุงคุณสมบัติในการยับยั้งแบคทีเรียของไลโซไซม์จากไข่ไก่ ได้ผลิตภัณฑ์ไลโซไซม์เปปไทด์แบบเพิ่มประสิทธิภาพ 2 ชนิด คือ eLysozyme-T1 และ eLysozyme-T2 ที่มีฤทธิ์ยับยั้งแบคทีเรียได้ดีทั้งแบคทีเรียแกรมบวกและแกรมลบ จนกระทั่งได้พัฒนากระบวนการผลิตไลโซไซม์เปปไทด์ในระดับอุตสาหกรรมภายใต้มาตรฐาน GMP (Good Manufacturing Practice) โดยสามารถขยายขนาดการผลิต eLysozyme-T1 และ eLysozyme-T2 จากระดับห้องปฏิบัติการเป็นระดับอุตสาหกรรมขนาดการผลิตที่เพียงพอต่อการทำตลาด ตลอดจนพัฒนาแนวทางประยุกต์ใช้เปปไทด์ต้านจุลชีพตลอดห่วงโซ่การผลิตอาหาร เช่น การใช้ไลโซไซม์เปปไทด์ลดอัตราการตายของกุ้งขาวจากการติดเชื้อแบคทีเรียวิบริโอในระหว่างการเพาะเลี้ยง เพื่อลดการสูญเสียผลผลิต เพิ่มความยั่งยืนของแหล่งวัตถุดิบอาหารของไทย การใช้ไลโซไซม์เปปไทด์เพื่อยืดอายุการเก็บรักษาไข่รวมเหลวพาสเจอร์ไรซ์
จากการวิจัยและพัฒนาแบบครบวงจรตั้งแต่การค้นหาเปปไทด์ต้านจุลชีพที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรมอาหาร การพัฒนากระบวนการผลิตเปปไทด์ในระดับอุตสาหกรรม และการพัฒนารูปแบบวิธีการใช้ประโยชน์เปปไทด์ในตลอดห่วงโซ่การผลิตอาหาร ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ทำให้ภาคเอกชนสนใจรับถ่ายทอดเทคโนโลยีและร่วมเป็นพันธมิตรต่อยอดงานวิจัยในระดับอุตสาหกรรม งานวิจัยดังกล่าวเป็นการพัฒนาแพลตฟอร์มและการใช้ประโยชน์เปปไทด์ต้านจุลชีพที่ค้นพบหรือพัฒนาขึ้นให้เกิดประโยชน์สูงสุดในห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรมอาหาร ตั้งแต่การเลี้ยงสัตว์สำหรับเป็นอาหาร การแปรรูป การบรรจุภัณฑ์ และการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ให้มีความปลอดภัยจากเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค และเชื้อจุลินทรีย์ที่ทำให้อาหารเน่าเสีย เพื่อเพิ่มความมั่นคงของแหล่งวัตถุดิบอาหาร ลดการสูญเสียผลิตภัณฑ์อาหาร และเป็นการช่วยลดปัญหาทางการแพทย์และสาธารณสุขจากการลดโอกาสเกิดเชื้อดื้อยา การลดการแพ้ยาปฏิชีวนะและสารเคมีถนอมอาหารที่ปนเปื้อนมากับผลิตภัณฑ์อาหาร
มูลนิธิอายิโนะโมะโต๊ะ ร่วมกับ สมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารแห่งประเทศไทย ในการมอบรางวัล Ajinomoto-FoSTAT Awards สำหรับนักวิจัยดีเด่นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหาร (Ajinomoto-FoSTAT Awards for Outstanding Food Science & Technology Researcher) โดยจัดขึ้นปีละ 1 ครั้ง เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรตินักวิจัย ทั้งยังส่งเสริมและกระตุ้นให้นักวิจัย พัฒนาผลงานวิจัยอย่างต่อเนื่องและนำผลงานไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารและสังคมไทย ซึ่งผลงานวิจัยที่พิจารณาอาจเป็นผลงานในด้านปฏิบัติหรือทฤษฎี โดยเน้นในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหาร ทั้งที่เป็นฐานความรู้ หรือนำไปประยุกต์ได้ และงานวิจัยต้องมาจากการวิจัยค้นคว้าของตนที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องและเป็นที่ยอมรับในวงการที่เกี่ยวข้องกับด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารหรืออุตสาหกรรมอาหาร โดยรางวัล Ajinomoto-FoSTAT Awards สำหรับนักวิจัยดีเด่นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหาร ประเภท Young Food Scientist Award เป็นรางวัลสำหรับนักวิจัยรุ่นใหม่ดีเด่นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหาร จำนวน 1 รางวัล มูลค่า 50,000 บาท โล่เกียรติคุณ และเกียรติบัตร พร้อมกับได้รับสิทธิ์เป็นสมาชิกสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารแห่งประเทศไทยตลอดชีพ