การขยายตัวทางอุตสาหกรรมและพื้นที่เมืองอย่างรวดเร็วก่อให้เกิดความหนาแน่นของประชากรและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้เมืองใหญ่ๆทั่วโลกต้องเผชิญกับปัญหามลพิษทางอากาศที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น รวมทั้งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเนื่องจากในอากาศทุกๆ 1 ลูกบาศก์เมตรจะมีจุลินทรีย์ล่องลอยอยู่กว่าหลายล้านตัว ดังนั้นปฏิสัมพันธ์ระหว่างจุลินทรีย์ในอากาศกับมนุษย์จึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ โดยทั่วไปแล้วสภาพแวดล้อมชุมชนเมือง (urban environment) เป็นแหล่งบ่มเพาะของจุลินทรีย์ก่อโรคและจุลินทรีย์ที่มีผลต่อสุขภาพของมนุษย์ รถไฟใต้ดินเป็นตัวแทนของสิ่งแวดล้อมแบบเมือง โดยเครือข่ายรถไฟใต้ดินมักมีที่ตั้งผ่านย่านใจกลางเมืองที่คราคร่ำไปด้วยผู้คน เชื่อมโยงกับแหล่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจและอาคารธุรกิจขนาดใหญ่ อากาศภายในระบบรถไฟใต้ดินย่อมต้องได้รับผลจากมลพิษอากาศจากแหล่งต่างๆซึ่งเป็นแหล่งที่มาสำคัญของมลพิษอากาศในสิ่งแวดล้อม
สถาบันวิจัยของเอเชีย 3 สถาบัน คือ ศูนย์ชีววัสดุประเทศไทย (TBRC), ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC), Institute of Microbiology, Chinese Academy of Science (IMCAS) และ Institute of Botany, Uzbekistan Academy of Science จึงได้ร่วมมือกันดำเนินโครงการวิจัยเพื่อศึกษาและวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงทางนิเวศวิทยาของไมโครไบโอม หรือชุมชนจุลินทรีย์ในอากาศในระบบรถไฟใต้ดิน ภายใต้การสนับสนุนของ Alliance of International Science Organizations (ANSO) โดยคณะวิจัยจะเก็บตัวอย่างอากาศบริเวณสถานีรถไฟใต้ดินใน 2 มหานครของทวีปเอเชีย ได้แก่ กรุงเทพฯ (ประเทศไทย) และกรุงปักกิ่ง (สาธารณรัฐประชาชนจีน) จากนั้นจึงบูรณาการการใช้เทคโนโลยี eDNA และการวิเคราะห์ข้อมูลชีวสารสนเทศซึ่งใช้ในความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยสิ่งแวดล้อมในอากาศ (โดยเฉพาะฝุ่นละออง PM2.5 และ PM10) ต่อโครงสร้างประชากรและพลวัตในชุมชนจุลินทรีย์หรือไมโครไบโอมในอากาศ
คณะวิจัยคาดหวังว่าโครงการนี้จะผลักดันให้เกิดการตื่นตัวและความก้าวหน้าของการศึกษาชุมชนจุลินทรีย์ในสิ่งแวดล้อมแบบเมือง (urban environment) และผลลัพธ์ของโครงการนี้จะเป็นองค์ความรู้ฐานรากที่มีประโยชน์ในการวางแผนนโยบายการจัดการสิ่งแวดล้อมเมืองที่รองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชากรอย่างยั่งยืนตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ของ ANSO