ทีมวิจัยและพัฒนาบริการ
ด้านเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
ข้อมูลเกี่ยวกับทีมวิจัย
ทีมวิจัยและพัฒนาบริการด้านเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (AQST) เป็นทีมวิจัยเพื่ออุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เดิมมีชื่อว่า หน่วยธุรกิจโครงการเทคโนโลยีชีวภาพกุ้ง (SBBU) ถูกจัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2548 โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ในสังกัดสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช) เพื่อนำผลงานวิจัยมาพัฒนาศักยภาพทางด้านการเพาะเลี้ยงและการค้าทางด้านสัตว์น้ำ โดยทำการวิจัยร่วมกันทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น หัองปฏิบัติการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการด้านสัตว์น้ำ (AAPS) และ ทีมวิจัยและพัฒนาบริการด้านเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (AQST) ตามลำดับ ทีมวิจัยและพัฒนาบริการด้านเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (AQST) มีภารกิจเพื่อทำงานวิจัยที่เกี่ยวข้องการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ให้คำปรึกษาแก่เอกชนในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงกุ้งและสัตว์น้ำชนิดอื่น เพื่อศึกษาต่อยอดงานวิจัย รวมถึงการให้บริการรับจ้างวิจัย บริการตรวจโรคในสัตว์น้ำด้วยเทคนิคพีซีอาร์และแลมป์ รวมถึงการผลิตชุดตรวจโรค (Ezee Gene®) เพื่อจำหน่าย
ปัจจุบัน AQST ตั้งอยู่ในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย มีพื้นที่ 640 ตารางเมตร ประกอบด้วยสำนักงาน ห้องทดสอบชีวโมเลกุล (Molecular Lab) ห้องทดสอบการเลี้ยงสัตว์น้ำ (Aquaculture Lab) และห้องทดสอบการติดเชื้อ (Disease challenge room) ที่ทันสมัย เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ
1. งานรับจ้างวิจัย (contract research)
ทีมวิจัยและพัฒนาบริการด้านเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (AQST) มีอีกหนึ่งงานบริการ “รับจ้างวิจัย” หรือ “Contract Research” โดยจะใช้ห้องทดสอบการเลี้ยงสัตว์น้ำ (Aquaculture Lab) ที่เป็นหนึ่งห้องทดสอบที่มีคุณภาพและทันสมัย ที่มีความพร้อมทั้งเครื่องมือ อุปกรณ์ ถังทดลองจำนวนมาก เพียงพอที่จะใช้ในการดำเนินงานวิจัยที่สามารถทดสอบความแตกต่างทางด้านสถิติ ทำให้การวิจัยเป็นที่ยอมรับและน่าเชื่อถือ รวมทั้งเจ้าหน้าที่มีความเชี่ยวชาญ พร้อมบริการแก่ลูกค้าที่มีความประสงค์ทำงานวิจัย (Contract Research) เพื่อนำข้อมูลงานวิจัยไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ และ ทำการตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดย AQST ให้บริการเพื่อสนับสนุนงานวิจัย ที่เกี่ยวกับการเลี้ยงสัตว์น้ำที่อาศัยอยู่ในน้ำจืดและน้ำเค็ม เพื่อทำการทดสอบผลิตภัณฑ์ เช่น อาหารสัตว์น้ำ อาหารเสริม จุลินทรีย์ โปรไบโอติก สารกระตุ้นภูมิคุ้มกัน สารกระตุ้นความอยากกินอาหาร ผลิตภัณฑ์ควบคุมคุณภาพน้ำ และสารผสมอื่นๆในอาหาร เป็นต้น ซึ่งจะให้บริการทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดย AQST จะช่วยออกแบบ วางแผนการ ดำเนินงาน วิเคราะห์ผลการวิจัย และจัดทำรายงานฉบับสมบูรณ์
2. งานบริการตรวจวิเคราะห์เชื้อก่อโรคสัตวน้ำ (Pathogen detection service)
เนื่องจากปัญหาเชื้อที่ก่อโรคในสัตว์น้ำ โดยเฉพาะไวรัสและแบคทีเรีย ยังเป็นปัญหาสำคัญในการจัดการโรงเพาะฟักลูกกุ้งและฟาร์มเลี้ยง เพื่อให้ได้ลูกพันธุ์กุ้งที่ปลอดจากเชื้อโรค ทำให้การส่งออกกุ้งหรือผลิตภัณฑ์กุ้งจะต้องผ่านการตรวจสอบเชื้อก่อโรคจากห้องปฏิบัติการเฉพาะทางที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของกรมประมง และใช้วิธีการวิเคราะห์อ้างอิงตามประกาศโดยองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) ห้องทดสอบชีวโมเลกุล (AQST Molecular Lab) จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ผู้เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมกุ้งสามารถใช้บริการได้
ด้วยมาตรฐานระบบการทำงานที่มีประสิทธิภาพและเครื่องมือที่ทันสมัยของห้องทดสอบชีวโมเลกุล ของ AQSTที่มีมาตรฐานการตรวจสอบคุณภาพ ISO9001:2015 พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ผู้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในการตรวจสอบเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคด้วยเทคนิค PCR และ LAMP ทำให้ท่านสามารถไว้วางใจและมั่นใจ ในผลการตรวจ สอบที่ถูกต้องและเชื่อถือได้ AQST มีประสบการณ์ในการตรวจสอบเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคในสัตว์น้ำ ตลอดจนการแก้ปัญหาสุขภาพสัตว์น้ำมาเป็นระยะเวลายาวนาน ด้วยผลงานวิจัยและพัฒนาที่เป็นอีกหนึ่งงานหลัก ทำให้ห้องทดสอบชีวโมเลกุล ของ AQST มีมาตรฐานสูงสุดสำหรับอุตสาหกรรมกุ้งไทย
3.งานบริการวิเคราะห์ทดสอบ เพื่อขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ ทีมวิจัยและพัฒนาบริการด้านเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (AQST) ให้คำปรึกษาและบริการออกแบบเพื่อวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ตามแนวทางปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosafety & Biosecurity) และการใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ (IACUC) ทำการทดสอบด้วยห้องปฏิบัติการภายใต้ระบบความปลอดภัยชีวภาพระดับ 2 (BSL2) ที่มีความพร้อมในการบริการวิเคราะห์ทดสอบทั้งผลิตภัณฑ์ที่เป็นจุลินทรีย์ และ สารเคมีที่ใช้ในการควบคุมคุณภาพน้ำ เพื่อใช้ประกอบการขอขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์กับกรมประมง รวมถึงการวิจัยพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์
สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ใช้เพื่อการฆ่าเชื้อหรือการปรับสภาพน้ำ ที่มีสารสำคัญเป็นจุลชีพ หรือ ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารสำคัญคือ จุลชีพ ที่ทำขึ้นเพื่อป้องกัน กำจัด ทำลาย หรือ ควบคุม จุลชีพ ปรสิต พืช หรือสัตว์น้ำอื่นในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ ซึ่งเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ขอขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ที่ กลุ่มควบคุมวัตถุอันตรายและการค้าปัจจัยการผลิต กองตรวจสอบเรือประมง สินค้าสัตว์น้ำ และปัจจัยการผลิต https://www4.fisheries.go.th/fishinspector
สำหรับผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับอาหารสัตว์ ตามพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. 2558 ได้แก่ สารผสมล่วงหน้า (Premix) ชนิดสารเสริมชีวนะ (Probiotic) สำหรับสัตว์น้ำ ได้แก่ กุ้งทะเล กุ้งน้ำจืด ปลาดุก ปลาน้ำจืดกินพืช ปลาน้ำจืดกินเนื้อ ปลาทะเลกินเนื้อ กบ และ ตะพาบน้ำ ขอขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ที่ กลุ่มควบคุมมาตรฐานอาหารสัตว์น้ำ กองวิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์น้ำ https://www4.fisheries.go.th/afr
ขั้นตอนการทำงาน
งานทดสอบที่ให้บริการ
งานวิเคราะห์ที่ให้บริการ
นักวิจัย (หัวหน้าทีมวิจัย)
ผู้เชี่ยวชาญเทคนิค
ผู้ช่วยวิจัย
ผู้ช่วยวิจัย
เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการอาวุโส
เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ
ทีมวิจัยและพัฒนาบริการด้านเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (AQST)
กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพสัตว์น้ำแบบบูรณาการ
ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ
117 อาคารโรงงานต้นแบบไบโอเทค อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย
ถ.พหลโยธิน ต.คลองหลวง อ.คลองหนึ่ง จ. ปทุมธานี 12120
โทร 02 564 6530 แฟกซ์ 02 564 6602
E-mail: aaqg-aqst@biotec.or.th, sbbu@biotec.or.th