สวทช. โดย ไบโอเทค และ สท. จัดอบรม “การถ่ายทอดเทคโนโลยีการใช้ชีวภัณฑ์อย่างมีคุณภาพและเหมาะสมกับโรคพืช แมลงศัตรูพืชทางการเกษตร” ณ แปลงเรียนรู้ จังหวัดกาญจนบุรี

เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2565 สวทช. โดย ไบโอเทค และสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) จัดงานอบรม “การถ่ายทอดเทคโนโลยีการใช้ชีวภัณฑ์อย่างมีคุณภาพ และเหมาะสมกับโรคพืช แมลงศัตรูพืชทางการเกษตร” ให้แก่เกษตรกรที่สนใจในการใช้ชีวภัณฑ์  จำนวนกว่า100 ราย เพื่อให้เกษตรกรได้พัฒนาทักษะ และให้มีความเข้าใจตามหลักวิชาการในการใช้ชีวภัณฑ์ โดยมี ดร.อลงกรณ์ อำนวยกาญจนสิน นักวิจัยอาวุโส และคุณชัชนันท์ ตระกูลน่าเลื่อมใส ผู้ช่วยวิจัย ทีมวิจัยการควบคุมเทคโนโลยีทางชีวภาพ ไบโอเทค เป็นวิทยากร ณ แปลงเรียนรู้ นายวิฑูรย์ ปราจนโรจน์ ตำบลพังตรุ อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี

ในช่วงปี 2559-2563 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการนำเข้าสารกำจัดแมลงมากกว่า 91,000 ตัน สารกำจัดวัชพืชมากกว่า 545,000 ตัน สารเคมีป้องกันและกำจัดโรคพืชทุกชนิดกว่า 88,000 ตัน คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 120,000 ล้านบาท และพบว่าในแต่ละปี มีแนวโน้มการนำเข้าสารเคมีสูงขึ้นเรื่อย ๆ แม้ว่าประเทศไทยมีกฎหมายควบคุมการใช้สารเคมีโดยการงดการนำเข้า/ขึ้นทะเบียนสารเคมีบางประเภทแล้ว แต่ยังคงเหลือตกค้างและใช้งานภายในประเทศอยู่เป็นจำนวนมาก และสารกำจัดศัตรูพืชหลายชนิดที่มีพิษร้ายแรงต่อสิ่งมีชีวิต ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต และสุขภาพของเกษตรกรเป็นอย่างมาก

ดังนั้น เพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงองค์ความรู้ และการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในการลดการใช้สารเคมี ลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร สวทช. ได้จัดทำ “โครงการการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตชีวภัณฑ์อย่างมีคุณภาพและมาตรฐานให้เกษตรกร” โดยดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ถ่ายทอดองค์ความรู้ในการบริหารจัดการโรคพืชและแมลงศัตรูพืช การผลิตขยายและใช้ชีวภัณฑ์อย่างมีคุณภาพและมาตรฐานให้เกษตรกร ตลอดจนพัฒนาศักยภาพของกลุ่มเกษตรกรให้
เกิดต้นแบบการนำเทคโนโลยีไปใช้งานในพื้นที่จริง

โครงการฯ มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ความเข้าใจการบริหารจัดการโรคพืช แมลงศัตรูพืช การผลิตและใช้ชีวภัณฑ์อย่างมีคุณภาพ ให้กับกลุ่มเกษตรกรเป้าหมาย จำนวน 9 พื้นที่ ครอบคลุม 9 จังหวัด และมีการจัดทำแปลงเรียนรู้การใช้ชีวภัณฑ์อย่างมีคุณภาพด้วยวิธีผสมผสานที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ในการควบคุมแมลงศัตรูพืช จำนวน 2 พื้นที่ เพื่อสร้างการเข้าถึงองค์ความรู้อย่างถูกหลักวิชาการ และพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรแกนนำที่จะขยายผลการผลิตและใช้ชีวภัณฑ์ในชุมชนอย่างมีคุณภาพต่อไป

ผลการดำเนินงานโครงการฯ ที่ผ่านมา เกิดการพัฒนาศักยภาพกลุ่มเกษตรกร เจ้าหน้าที่ภาครัฐ ภาคเอกชน ในการบริหารจัดการโรคพืชและแมลงศัตรูพืช การผลิตชีวภัณฑ์อย่างมีคุณภาพและมาตรฐาน ถูกหลักวิชาการ จำนวน 474 ราย เกิดแปลงเรียนรู้การใช้ชีวภัณฑ์อย่างมีคุณภาพจำนวน 1 แปลง และเกิดเครือข่ายผู้ผลิตชีวภัณฑ์จำนวน 3 เครือข่าย รวมถึงสร้างนวัตกรชุมชนจำนวน 2 ราย เพื่อนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีขยายผลสู่ชุมชนต่อไป