การฝึกอบรมหลักสูตรการปฏิบัติงานในสถานปฏิบัติการระดับ 3: BSL3
วันที่ 13 – 15 พฤษภาคม 2568
ห้องประชุม SD-601 ชั้น 6 อาคารสราญวิทย์ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ. ปทุมธานี
หลักสูตรการฝึกอบรมนี้ได้รับการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เลขที่ทะเบียน สธ 0621.06/2852
จัดโดย:
ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
หลักการและเหตุผล:
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับจุลินทรีย์ สารชีวภาพ และเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ในหลายหน่วยงาน อาทิ การวินิจฉัยโรคในสถานพยาบาล การเรียนการสอนในสถาบันการศึกษา การวิจัยทั้งในเชิงการแพทย์ เกษตร และอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั้งในหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน รวมไปถึงภาคการผลิตทั้งในอุตสาหกรรมขนาดเล็กและขนาดใหญ่ โดยจุลินทรีย์ สารชีวภาพ และเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ที่ดำเนินงานด้วยนั้น มีศักยภาพในการก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงาน ชุมชน และสิ่งแวดล้อมในระดับต่างๆ กัน เช่น เป็นเชื้อก่อโรคอันตรายที่อาจติดต่อสู่ผู้ปฏิบัติงานแต่ไม่สามารถแพร่กระจายสู่สิ่งแวดล้อมภายนอก หรือเป็นเชื้อก่อโรคที่แพร่กระจายได้ง่ายและไม่มีวิธีในการป้องกันหรือรักษาที่มีประสิทธิภาพ การดำเนินงานกับสารดังกล่าวจึงควรเป็นไปตามหลักการความปลอดภัยทางชีวภาพ โดยมีวิธีปฏิบัติงาน โครงสร้างพื้นฐาน เครื่องมือและอุปกรณ์ ตลอดจนอุปกรณ์ปกป้องส่วนบุคคล ที่เหมาะสมตามระดับความเสี่ยงของสารที่ดำเนินงาน อีกทั้งควรมีมาตรการในการป้องกันผู้ไม่ประสงค์ดี ที่จะนำสารดังกล่าวไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม อาทิ การก่อการร้ายด้วยอาวุธชีวภาพ เป็นต้น
หลักสูตรฝึกอบรมการปฏิบัติงานในสถานปฏิบัติการระดับ 3 พัฒนาขึ้นสำหรับใช้ในการอบรมบุคลากรที่มีการดำเนินงานเกี่ยวกับจุลินทรีย์ สารชีวภาพ และเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ ในกลุ่มที่ประเมินแล้วว่ามีความเสี่ยงสูง โดยมีเนื้อหาครอบคลุมทั้งในส่วนของหลักการดำเนินงานด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ และการรักษาความปลอดภัยทางชีวภาพ อาทิ การประเมินและการจัดการความเสี่ยง การออกแบบสถานที่ การจัดวางเครื่องมือ และอุปกรณ์ในสถานปฏิบัติการระดับ 3 การตรวจสอบและบำรุงรักษาสถานปฏิบัติการระดับ 3 มาตรฐานการปฏิบัติงานในสถานปฏิบัติการระดับ 3 อุปกรณ์ปกป้องส่วนบุคคล และการตอบโต้กรณีเหตุฉุกเฉิน
วัตถุประสงค์:
เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับหลักการ และวิธีการดำเนินงานเพื่อให้เกิดความปลอดภัยทางชีวภาพและการรักษาความปลอดภัยทางชีวภาพแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องที่มีการดำเนินงานกับจุลินทรีย์ สารชีวภาพ และเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ในกลุ่มที่ประเมินแล้วว่ามีความเสี่ยงสูง
กลุ่มเป้าหมายและจำนวนผู้เข้าอบรม:
นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ เทคนิคการแพทย์ และบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานกับจุลินทรีย์ สารชีวภาพ และเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ในกลุ่มที่ประเมินแล้วว่ามีความเสี่ยงสูง จำนวน 40 คน โดยผู้ที่จะเข้าอบรมต้องมีประกาศนียบัตรรับรองการผ่านการอบรมหลักสูตรความปลอดภัยทางชีวภาพและการรักษาความปลอดภัยทางชีวภาพ (BSL-2) ที่ยังไม่หมดอายุ
ค่าลงทะเบียน:
– 4,500 บาท (สำหรับหน่วยงานที่ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม)
– 4,815 บาท (สำหรับบริษัทเอกชนและหน่วยงานที่ต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม)
(ค่าลงทะเบียนรวม อาหารกลางวันและอาหารว่าง ไฟล์เอกสารประกอบการอบรม แบบฝึกปฏิบัติการและอุปกรณ์สำหรับภาคปฏิบัติการ)
การลงทะเบียน:
- ระบบลงทะเบียนจะเปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่ “วันที่ 17 มีนาคม (เวลา 09:00 น. เป็นต้นไป) – 1 พฤษภาคม 2568” และจะปิดอัตโนมัติเมื่อมีผู้ลงทะเบียนครบจำนวน 40 ท่าน (ปิดรับลงทะเบียน เนื่องจากมีผู้ลงทะเบียนครบจำนวนแล้ว)
- URL สำหรับลงทะเบียน: https://event.nstda.or.th/event-nstda/#/register/add-register/53
- หลังจากลงทะเบียนเสร็จเรียบร้อย ท่านจะได้รับ e-mail ยืนยันการลงทะเบียน พร้อมทั้งรายละเอียดการจัดส่งประกาศนียบัตรรับรองการผ่านการอบรมหลักสูตรความปลอดภัยทางชีวภาพและการรักษาความปลอดภัยทางชีวภาพ (BSL-2) และการชำระเงิน โปรดดำเนินการตามรายละเอียดที่ระบุใน e-mail
- หากท่านไม่ได้รับ e-mail ยืนยันการลงทะเบียน โปรดติดต่อเจ้าหน้าที่ตามรายละเอียดที่ให้ไว้ด้านล่าง
- กรณีชำระค่าลงทะเบียนแล้ว ผู้จัดขอสงวนสิทธิ์ในการคืนเงินค่าลงทะเบียนทุกกรณีหากผู้สมัครไม่สามารถเข้าร่วม การฝึกอบรม สามารถส่งผู้แทนได้
- QR CODE:
สำหรับนักเทคนิคการแพทย์: สำหรับผู้ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตร BSL3 ได้รับคะแนน CMTE 16.50 คะแนน
ประกาศนียบัตร:
ผู้ได้รับประกาศนียบัตรต้องเข้าร่วมการอบรมครบตามจำนวนชั่วโมงที่ประกาศในหลักสูตร และต้องมีผลการทดสอบหลังการอบรมตามเกณฑ์
หมายเหตุ: ประกาศนียบัตรมีอายุ 3 ปี นับตั้งแต่วันที่เข้าอบรม
Download เอกสาร: เอกสารโครงการและกำหนดการ; แผนที่อาคารต่างๆ ในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย
ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม:
งานสนับสนุนการพัฒนาความสามารถด้านเทคโนโลยีชีวภาพ
ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ
โทร.: 0 2564 6700 ต่อ 3380 – 3381
Email: rsd-bcd@biotec.or.th