วัณโรค (TB) เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียเรื้อรังที่ส่งผลกระทบต่อคนทั่วโลกและเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญ สาเหตุของวัณโรคส่วนมากเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Mycobacterium tuberculosis ซึ่งสามารถแพร่กระจายได้ง่ายผ่านทางระบบทางเดินหายใจ และคงทนอยู่ได้นานในสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสามารถแฝงอยู่ในร่างกายโดยที่ไม่แสดงอาการ จึงยากต่อการคาดเดาว่า จะดำเนินต่อเป็นการติดเชื้อวัณโรคระยะแสดงอาการในเวลาใด
จากข้อจำกัดด้านข้อมูลและการศึกษาวัณโรคในมนุษย์ที่มีข้อกังวลด้านจริยธรรม ทำให้มีการศึกษาวัณโรคในลิงแสมแทน ดังนั้นเพื่อทำการศึกษาสภาวะการติดเชื้อวัณโรคระยะแฝง ดร.สารดี วาฤทธิ์ นักวิจัยไบโอเทค ทีมวิจัยวัณโรค กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพระดับโมเลกุลทางการแพทย์ ร่วมกับคณะผู้ร่วมวิจัยจึงได้ดำเนินโครงการวิจัยเรื่อง “Whole genome sequencing and miRNA biomarkers for an enhanced understanding of mechanism of tuberculosis infection in cynomolgus macaques (Macaca fascicularis): A translational knowledge to clinical study” ซึ่งเป็นการศึกษาไมโครอาร์เอ็นเอในลิงแสมที่ติดเชื้อวัณโรคตามธรรมชาติ เพื่อให้เข้าใจกลไกการติดเชื้อวัณโรคระยะแฝง โดยคาดหวังว่า ผลการศึกษาดังกล่าว จะสามารถนำไปต่อยอดพัฒนาชุดตรวจวัณโรค ร่วมถึงนำไปสู่การพัฒนายาและวัคซีนใหม่สำหรับวัณโรคเพื่อใช้ในมนุษย์ต่อไป
โครงการวิจัยนี้ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัย 150,000 ดอลล่าห์สหรัฐ จากสมาพันธ์องค์การวิทยาศาสตร์ระหว่างประเทศ (Alliance of International Science Organizations: ANSO) ระยะเวลาดำเนินโครงการ 3 ปี โดยมีความร่วมมือกับ National Genomics Data Center, Beijing Institute of Genomics, Chinese Academy of Sciences ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ และคณะแพทยศาสตร์) และ California National Primate Research Center, University of California Davis ประเทศสหรัฐอเมริกา