(30 มิถุนายน 2567) ณ วัดบางอำพันธ์ อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ – นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษา รมว.อว. น.ส.สุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการ รมว.อว. ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัด อว.และผู้บริหารกระทรวง อว. เข้าร่วมตรวจเยี่ยมการดำเนินงานในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ-นครราชสีมา ภายใต้การประชุม ครม.สัญจร กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 (นครราชสีมา ชัยภูมิ สุรินทร์ บุรีรัมย์) โดยมีนายอนันต์ นาคนิยม ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ นายสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.ชัยภูมิ เขต 3 น.ส.สุรีวรรณ นาคาศัย คณะที่ปรึกษานายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ผู้นำชุมชน ผู้นำเกษตรกรและประชาชนให้การต้อนรับและเข้าร่วมรับฟังนโยบายการนำงานวิจัย วิทยาศาสตร์และนวัตกรรมมาแก้จน โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก มีหน่วยงานในกระทรวง อว. นำงานวิจัยและนวัตกรรมพร้อมใช้มาจัดแสดง ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นจำนวนมาก โอกาสนี้ ดร.อุรชา รักษ์ตานนท์ชัย รองผู้อำนวยการ สวทช. ผศ.ดร.เชาวรีย์ อรรถลังรอง ผู้อำนวยการไบโอเทค ทีมนักวิจัยจาก สวทช. และเกษตรกรผู้ใช้งานจริงกับชุดตรวจโรคใบด่างฯ นายถาวร คัดวงษ์ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดชัยภูมิ และชุดตรวจโรคปลานิล นายนัยสิทธิ์ สังทองหลาง เกษตรกรผู้ใช้งานจาก จ.นครราชสีมา ร่วมให้การต้อนรับ พร้อมนำเสนอผลงานวิจัยพัฒนาของ สวทช.ที่มีการนำมาใช้ประโยชน์ในพื้นที่ จ.ชัยภูมิและจังหวัดใกล้เคียง ประกอบด้วย ด้านเกษตร 2 ผลงาน คือ ชุดตรวจโรคปลานิล ชุดตรวจโรคใบด่างมันสำปะหลัง และด้านสาธารณสุข คือ ชุดตรวจคัดกรองความเสี่ยงโรคไต
ดร.อุรชา รักษ์ตานนท์ชัย รองผู้อำนวยการ สวทช. เผยว่าในวันนี้ สวทช. โดย ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ ได้นำชุดตรวจคัดกรองความเสี่ยงโรคไต จำนวน 500 ชุดมอบให้กับ รศ.ดร.พญ.ศิริรัตน์ อนุตระกูลชัย หัวหน้าโครงการป้องกันและชะลอโรคไตเรื้อรังในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีท่านรัฐมนตรีกระทรวง อว.ได้ให้เกียรติเป็นประธานในการส่งมอบชุดตรวจฯให้กับหน่วยแพทย์ อว. เคลื่อนที่จากโรงพยาบาลศรีนครินทร์ ม.ขอนแก่น ที่มาให้บริการตรวจสุขภาพประชาชนในพื้นที่ ซึ่งโรคไตนับเป็นหนึ่งในโรคที่มีความเสี่ยงที่พบบ่อยในภาคอีสาน โดยมุ่งหวังให้ประชาชนในพื้นที่มีโอกาสได้เข้าถึงบริการสุขภาพ และมีสุขภาพที่ดีด้วย ขณะที่ ผศ.ดร.เชาวรีย์ อรรถลังรอง ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) เผยว่า สวทช. โดยไบโอเทค มีการนำ 2 ชุดตรวจด้านการเกษตร มานำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี อว. และเผยแพร่แก่เกษตรกรในพื้นที่ คือ ชุดตรวจอย่างง่ายในรูปแบบ Immunochromatographic strip test (ICG strip test) สำหรับตรวจวินิจฉัยเชื้อ Streptococcus agalactiae ในปลานิล และชุดตรวจโรคใบด่างมันสำปะหลัง คัดกรองโรคใบด่างฯ และท่อนพันธุ์มันสำปะหลังปลอดโรค ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่นักวิจัยไบโอเทคโดยทีมวิจัยการผลิตโมโนโคลนอลแอนติบอดีและการประยุกต์ใช้ พัฒนาขึ้นทั้ง 2 เทคโนโลยี เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาของเกษตรกร และมีการขยายผลใช้งานแล้วทั่วประเทศ
ชุดตรวจอย่างง่ายในรูปแบบ Immunochromatographic strip test (ICG strip test) สำหรับตรวจวินิจฉัยเชื้อ Streptococcus agalactiae ในปลานิล เป็นชุดตรวจอย่างง่าย เกษตรกรสามารถตรวจได้ด้วยตนเอง และสามารถนำไปตรวจในฟาร์มได้ มีความแม่นยำสูง มีความไวสูง สามารถตรวจเชื้อ S. agalactiae serotype Ia และ S. agalactiae serotype III ได้พร้อมกันในชุดตรวจเดียวแล้ว รวมถึงยังสามารถใช้ในการตรวจตัวอย่างที่หลากหลายในฟาร์มเพาะเลี้ยง สำหรับการเฝ้าระวังและจัดการควบคุมโรคสเตรปโตคอคโคซิส ในอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงปลานิลและปลาทับทิม
ชุดตรวจโรคปลานิลมีการนำไปใช้จริงแล้วกว่า 2,500 ชุดตรวจในพื้นที่ทั่วประเทศ โดยชุดตรวจมีราคาชุดละ 200 บาท ซึ่งถ่ายทอดเชิงพาณิชย์ให้กับผู้ผลิตแล้ว 1 ราย โดยวิธีการตรวจนี้ทดแทนการตรวจรูปแบบเดิมที่มีราคาชุดละ 800 บาท เรียกได้ว่าเป็นการช่วยลดต้นทุนให้เกษตรกร ทั้งนี้ จากที่มีการอบรมใช้ชุดตรวจใน 16 จังหวัดทั่วประเทศและในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว พบว่า ชุดตรวจนี้สามารถเข้าถึงเกษตรกรได้เกือบ 500 รายแล้ว
ด้าน ชุดตรวจโรคใบด่างมันสำปะหลัง คัดกรองโรคใบด่างมันสำปะหลัง และท่อนพันธุ์มันสำปะหลังปลอดโรค เป็นชุดตรวจแบบรวดเร็วในรูปแบบ strip test ที่มีหลักการทำงานคล้ายชุดตรวจโควิด-19 ใช้งานง่าย รู้ผลภายใน 15 นาที ซึ่งโรคใบด่างมันสำปะหลัง เกิดจากเชื้อไวรัสชนิด Sri Lankan cassava mosaic virus (SLCMV) เป็นโรคอุบัติใหม่ที่พบการแพร่ระบาดในพื้นที่เพาะปลูกในหลายจังหวัดของประเทศไทย สาเหตุสำคัญเกิดจากการนำท่อนพันธุ์ที่เป็นโรคใบด่างฯ มาปลูก ในกรณีที่ระบาดรุนแรงสร้างความเสียหายต่อผลผลิตได้ถึง 30 – 80 % ชุดตรวจนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากในการตรวจคัดกรองและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคใบด่างฯ ในประเทศไทย รวมถึงการตรวจหาเชื้อในขั้นตอนต่าง ๆ ของกระบวนการผลิตต้นพันธุ์มันสำปะหลังปลอดเชื้อ
สำหรับชุดตรวจโรคใบด่างมันสำปะหลัง มีการส่งมอบชุดตรวจให้กับทางภาครัฐและภาคเอกชนแล้วมากกว่า 5,000 ชุด คิดเป็นมูลค่าประมาณ 500,000 บาท ซึ่งสามารถเข้าถึงเกษตรกรได้มากถึง 1,000 รายใน 21 พื้นที่ทั้งในและต่างประเทศ (สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว)
และอีก 1 ชุดตรวจคือ ชุดตรวจคัดกรองความเสี่ยงโรคไต พัฒนาโดยทีมวิจัยวัสดุตอบสนองและเซนเซอร์ระดับนาโน นาโนเทค สวทช. ซึ่งได้นำความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาวัสดุระดับนาโนและการประยุกต์ใช้เป็นเซนเซอร์ทางด้านการแพทย์ มาพัฒนาเป็นชุดตรวจโรคไต สำเร็จแล้ว 2 เทคโนโลยี คือ AL-Strip และ GO-Sensor Albumin Test โดย ‘AL-Strip’ เป็นชุดตรวจโรคไตเชิงคุณภาพที่ประชาชนทั่วไปใช้ตรวจคัดกรองโรคได้ด้วยตัวเอง ทราบผลตรวจได้ภายใน 5 นาที ที่สำคัญมีราคาจับต้องได้
ขณะที่ GO-Sensor Albumin Test เป็นชุดตรวจโรคไตเชิงปริมาณ เพื่อวิเคราะห์ผลทางการแพทย์ โดยมี 2 ส่วนหลักคือ เครื่องตรวจปริมาณอัลบูมินที่เจือปนอยู่ในปัสสาวะ ใช้เวลาประมวลผลเพียง 10-30 นาที ภายหลังเครื่องประมวลผลเสร็จ ระบบจะส่งข้อมูลเข้าแดชบอร์ดที่แพทย์นำผลตรวจไปใช้งานต่อได้สะดวก ส่วนที่สองคือ น้ำยาตรวจที่มีความจำเพาะกับอัลบูมินของมนุษย์ มีความไว (sensitive) ในการตรวจมากกว่าชุดตรวจทั่วไปประมาณ 100 เท่า ช่วยลดปริมาณน้ำยาที่ใช้ตรวจได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญมีราคาที่สถานพยาบาลขนาดเล็กสั่งซื้อเพื่อใช้งานได้ และเหมาะใช้ตรวจในสถานพยาบาลและออกตรวจนอกสถานที่เพื่อความคล่องตัว