ห่วงโซ่คุณค่าการผลิตมันสำปะหลังที่ยั่งยืน

ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรจากทั้งภาครัฐและเอกชน ดำเนินงานวิจัยและพัฒนาเพื่อนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (Knowledge, Technology, and Innovation) มาส่งเสริมและยกระดับการผลิตมันสำปะหลัง (Cassava) ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย การดำเนินงานครอบคลุมทุกกระบวนการผลิตอย่างครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ (Upstream-Midstream-Downstream) ซึ่งรวมถึงการเพาะปลูก การแปรรูป การจัดการ และการผลิต เพื่อนำไปสู่การสร้าง “ห่วงโซ่คุณค่าการผลิตมันสำปะหลัง” (Cassava Value Chain) ที่ช่วยเพิ่มมูลค่าผลผลิต ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรม และสนับสนุนความยั่งยืนของทั้งภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมของประเทศ

งานวิจัยต้นน้ำ

BIOTEC มีการดำเนินงานวิจัยต้นน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปลูก และเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลัง ได้แก่

  • เทคโนโลยีการผลิตต้นพันธุ์สะอาด
  • ชุดตรวจวินิจฉัยโรคใบด่างมันสำปะหลัง และการประยุกต์ใช้เพื่อเฝ้าระวังและจัดการควบคุมโรคอย่างเป็นรูปธรรม
  • ชีวภัณฑ์กำจัดแมลงศัตรูพืชในแปลงปลูกมันสำปะหลัง

งานวิจัยกลางน้ำ

BIOTEC โดยกลุ่มวิจัยวิศวกรรมชีวเคมีและชีววิทยาระบบ ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรหลายภาคส่วน อาทิ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) สมาคมแป้งมันสำปะหลังแห่งประเทศไทย มีการดำเนินงานวิจัยกลางน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการจัดการและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรมันสำปะหลัง รวมถึงการจัดการของเสีย (waste management) ที่เกิดขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีการสร้างองค์ความรู้ สร้างความเชื่อมโยงและพัฒนาต่อยอดกระบวนการในส่วนต่าง ๆ เพื่อลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานมันสำปะหลัง และเพิ่มรายได้ ไปสู่ภาคีที่เกี่ยวข้อง ด้วยการถ่ายทอดเทคโนโลยี และบริการวิชาการ ซึ่งสามารถตอบสนองต่อความต้องการของประเทศและสังคม

งานวิจัยปลายน้ำ 

BIOTEC โดยทีมวิจัยเทคโนโลยีเอนไซม์ ได้วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีกระบวนการผลิตทรีฮาโลสจากมอลโตสโดยใช้เอนไซม์ Trehalose synthase แบบขั้นตอนเดียว ซึ่งเป็นกระบวนการที่ง่าย ไม่ซับซ้อน และให้ผลผลิตสูง โดยใช้วัตถุดิบคือแป้งมันสำปะหลังในการนำมาเปลี่ยนเป็นน้ำเชื่อมมอลโตส ซึ่งทำให้สามารถบูรณาการเข้ากับโรงงานแปรรูปมันสำปะหลัง หรือโรงงานผลิตน้ำเชื่อมมอลโตสในประเทศไทยได้ และกลูโคสซึ่งเป็นผลผลิตพลอยได้เพียงหนึ่งเดียวของกระบวนการยังสามารถจำหน่ายในท้องตลาดได้อีกด้วย

โดยเทคโนโลยีดังกล่าวนี้มีข้อได้เปรียบกว่าการใช้เทคโนโลยีการผลิตทรีฮาโลสแบบสองขั้นตอนที่ใช้ในปัจจุบันซึ่งมีขั้นตอนการผลิตซับซ้อนใช้เอนไซม์หลายชนิด และได้ผลผลิตพลอยได้ที่มากกว่าสองชนิดทำให้ต้องใช้ต้นทุนสูงในการทำให้บริสุทธิ์กว่าจะนำผลผลิตพลอยได้นั้นไปใช้ประโยชน์ได้ ดังนั้นเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นจึงมีความน่าสนใจที่จะนำไปต่อยอดในภาคอุตสาหกรรมได้

อ่านเพิ่มเติมได้ที่
https://nac2025-egaqakbcaefndxhx.southeastasia-01.azurewebsites.net/nac/2025/exhibitions/bpe37/