
ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจังหวัดตาก มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร แม่สอด หอการค้าจังหวัดตาก และ YEC หอการค้าจังหวัดตาก จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การจัดการโรคและแมลงศัตรูกาแฟอย่างปลอดภัยด้วยชีวภัณฑ์เกษตร” ภายใต้โครงการ “การอนุรักษ์ฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพและเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนในพื้นที่เหมืองผาแดง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดตาก ตามโมเดลการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG” เพื่อส่งเสริมและประชาสัมพันธ์การใช้ชีวภัณฑ์ควบคุมโรคและแมลงศัตรูกาแฟอย่างถูกวิธีและมีประสิทธิภาพ เมื่อวันพุธที่ 21 เมษายน 2568 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏกําแพงเพชร แม่สอด จ.ตาก แก่ผู้เข้าร่วมอบรมกลุ่มเกษตรกร กลุ่มผู้ปลูกกาแฟ และกลุ่มผู้ปลูกข้าว กว่า 60 คน และทางออนไลน์ผ่านเพจทีมวิจัย ชีวภัณฑ์ไบโอเทค เพื่อผักผลไม้ปลอดภัย

โดยคณะทำงานทีมวิจัยเทคโนโลยีการควบคุมทางชีวภาพ ไบโอเทค สวทช. นำโดย นางสาวเชษฐ์ธิดา ศรีสุขสาม กล่าวเปิดงาน และบรรยายหัวข้อ “ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับชีวภัณฑ์เพื่อการทำเกษตรปลอดภัยอย่างยั่งยืน” ต่อด้วยการบรรยายหัวข้อ “เรียนรู้โรคพืชเบื้องต้นและการป้องกันกำจัด” โดย นายศิวรินทร์ ศรีเกตุ การบรรยายหัวข้อ “การจัดการแมลงศัตรูพืชและเรียนรู้เรื่องแมลงศัตรูธรรมชาติ” โดย นางสาวสมฤทัย ใจเย็น และปิดท้ายด้วยการสาธิตหัวข้อ “การใช้ชีวภัณฑ์และสารเคมีเกษตรด้วยความปลอดภัยอย่างเต็มประสิทธิภาพ” โดย นางสาววรางคณา จันดา



ทั้งนี้ จ.ตาก เป็นพื้นที่ผลิตพืชผักที่สำคัญของไทยและยังเป็นพื้นที่ผลิตกาแฟอันดับ 9 ของประเทศ (ปี 2565) ซึ่งการปลูกกาแฟในประเทศไทยโดยเฉพาะพื้นที่สูงนอกจากปลูกเพื่อการบริโภคแล้ว ยังเป็นการปลูกเพื่อฟื้นฟูป่าต้นน้ำทดแทนพืชเสพติด เสริมสร้างการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจากการปรับเปลี่ยนพื้นที่เสื่อมโทรมมาปลูกกาแฟภายใต้ร่มเงาของไม้ป่าท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม การปลูกกาแฟยังมีการใช้สารเคมีจำนวนมากเพื่อกำจัดศัตรูพืชที่เข้าทำลายผลผลิตจนเสียหาย เช่น โรคราสนิม โรคแอนแทรคโนส ซึ่งทำให้เกิดอาการบนใบ ผลกาแฟ และบนกิ่ง และแมลงศัตรูสำคัญในกาแฟ คือ มอดเจาะผลกาแฟ หนอนเจาะกิ่งกาแฟ และด้วงหนวดยาวกาแฟ นับเป็นแมลงศัตรูที่สร้างความเสียหายให้กับผลผลิตกาแฟได้มากถึง 50%


ฉะนั้น การส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาใช้ชีวภัณฑ์ รวมไปถึงการสร้างองค์ความรู้ความเข้าใจแก่เกษตรกรเรื่องการบริหารจัดการศัตรูพืชในกาแฟ จะเป็นขั้นตอนสำคัญในการใช้ชีวภัณฑ์ให้ถูกวิธีทดแทนการใช้สารเคมี ซึ่งเป็นคำตอบของความยั่งยืนทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม



