ขอแสดงความยินดี ดร. กัลยาณ์ ศรีธัญญลักษณา-แดงติ๊บ นักวิจัยไบโอเทค ในโอกาสได้รับทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูง วช. ประจำปี 2565

เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2566 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ – ดร.กัลยาณ์ ศรีธัญญลักษณา-แดงติ๊บ หัวหน้าทีมวิจัยสุขภาพสัตว์น้ำ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในโอกาสได้รับทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูง วช. ประจำปี 2565  สาขาเกษตรศาสตร์ ​ จากโครงการวิจัยเรื่อง “การประยุกต์ใช้องค์ความรู้ของกลไกการอยู่ร่วมกันของกุ้งและไวรัสเพื่อประโยชน์ ในการควบคุมโรคระบาดที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสในกุ้ง” ภายในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566 (Thailand Research Expo 2023)”  โดยมี ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูง เป็นประธานในพิธี ร่วมด้วย นายสมปรารถนา สุขทวี รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.)  ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช.  ศ.กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานคณะกรรมการทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูง และประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม กองทุนส่งเสริม ววน. ร่วมในงาน  ซึ่งทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยดังกล่าว จัดขึ้นโดย วช. และสวทช. ด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยวิจัยและนวัตกรรม จึงได้ร่วมกันพัฒนากลไกสนับสนุนและผลักดันงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นในประชาคมวิจัย เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านวิชาการในระดับนานาชาติ และเร่งการประยุกต์ใช้ผลงานเพื่อการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมให้ประเทศ อย่างยั่งยืน

   

ดร.กัลยาณ์ ศรีธัญญลักษณา-แดงติ๊บ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งนักวิจัยอาวุโส สังกัดศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ  มีประสบการณ์ในการทำงานวิจัยเรื่องกุ้งทะเลที่เป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศมายาวนาน โดยมีความเชี่ยวชาญเฉพาะในการทำงานวิจัยด้านระบบภูมิคุ้มกันของกุ้งทะเลที่ตอบสนองต่อเชื้อก่อโรคและเรื่องกลไกการก่อโรคของเชื้อก่อโรคในกุ้งที่จะนำไปสู่การเกิดโรคระบาดในบ่อเลี้ยง และมีวัตถุประสงค์หลักในการทำงานเพื่อสนับสนุนความยั่งยืนของอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งของประเทศด้วยการนำเอาองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเป็นแนวทางในการพัฒนาสุขภาพกุ้งและการศึกษากลไกการก่อโรคของเชื้ออุบัติใหม่และอุบัติซ้ำในกุ้ง และวางแนวทางร่วมกับผู้ประกอบการในการควบคุม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคระบาดจากเชื้อก่อโรค

นอกจากนี้ ดร.กัลยาณ์ มีผลงานตีพิมพ์ดีเด่นที่เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ และได้รับการยกย่องให้เป็นนักวิจัยที่บทความวิจัยได้รับการตีพิมพ์และอ้างอิงที่อยู่ในกลุ่มสูงสุด 2% ของโลกในสาขาประมงติดต่อกัน 3 ปี (2562-2564) โดยการสำรวจของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา ดร.กัลยาณ์ได้รับทุนวิจัยสนับสนุนการทำงานวิจัยอย่างต่อเนื่องทั้งในระดับชาติและนานาชาติ และมีเครือข่ายการทำงานทั้งภาครัฐและอุตสาหกรรมทั้งภายในและภายนอกประเทศที่เข้มแข็ง ปัจจุบันดร.กัลยาณ์ดำรงตำแหน่งเป็นคณะกรรมการด้านการผลิตสัตว์น้ำและสุขภาพสัตว์น้ำของกรมประมง และทำงานในฐานะ adjunct staff ของภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลในการผลิตนักศึกษาระดับปริญญาโท-เอก ในด้านการพัฒนาองค์ความรู้ในการป้องกันการแพร่กระจายของโรคระบาดในกุ้งทะเลระหว่างประเทศ ดร. กัลยาณ์ทำงานร่วมกับองค์กรระดับภูมิภาค เช่น Network of Aquaculture Centres in Asia-Pacific (NACA), Fish Health Section of the Asian Fisheries Society (FHS-AFS) และระดับโลก เช่น Food and Agriculture Organization of the United Nations (FAO)

ในโอกาสนี้ คณะผู้บริหารและพนักงานศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นำโดย ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการ  และ  ดร.สรวิศ เผ่าทองศุข ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพสัตว์น้ำแบบบูรณาการ ร่วมแสดงความยินดีกับ ดร.กัลยาณ์ ศรีธัญญลักษณา-แดงติ๊บ เนื่องในรับทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยดังกล่าวในครั้งนี้