นักวิจัยไบโอเทค สวทช. คว้ารางวัลจากเวทีนานาชาติ พร้อมอวดศักยภาพสู่ระดับโลก

(เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2567ที่ผ่านมา) นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในพิธีมอบประกาศนียบัตรและกล่าวแสดงความยินดีแก่นักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยที่ได้รับรางวัลจากเวทีนานาชาติ โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อํานวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวรายงานพร้อมด้วยคณะผู้บริหาร นักประดิษฐ์และนักวิจัย โอกาสนี้ ศ. ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดร.อุรชา รักษ์ตานนท์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. ดร.กอบกุล เหล่าเท้ง รองผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. เข้าร่วมงานและแสดงความยินดีกับนักวิจัย สวทช. ณ ห้องมัฆวานรังสรรค์ ชั้น 3 สโมสรทหารบก วิภาวดี

นางสาวศุภมาส กล่าวว่า การส่งเสริมสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมสู่เวทีระดับนานานาชาติเป็นกลไกหนึ่งที่สำคัญในการสนับสนุนให้นักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เทคโนโลยี และประสบการณ์กับนักประดิษฐ์และนักวิจัยจากนานาประเทศ อีกทั้งยังเป็นการเผยแพร่ผลงานและแสดงศักยภาพในการประดิษฐ์คิดค้นของคนไทยต่อสายตาชาวโลก ตลอดจนผลักดันความร่วมมือด้านการวิจัยระหว่างประเทศ ทำให้ไทยได้เข้าไปมีบทบาทสำคัญในเวทีระดับนานาชาติ ที่สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. ได้สนับสนุนโครงการส่งเสริมสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมสู่เวทีระดับนานาชาติมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี โดยทำหน้าที่เสนอชื่อและคัดเลือกผลงานจากประเทศไทยสู่เวทีการประกวดแข่งขันและจัดแสดงในเวทีระดับนานาชาติ นอกจากนี้ยังมีสถาบันการศึกษาทั้งในระดับอุดมศึกษา มัธยมศึกษา หน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน ที่ให้การส่งเสริมและสนับสนุนนักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยรวมทั้งสร้างความร่วมมือกันทุกภาคส่วน

“ขอชื่นชมและขอเเสดงความยินดีกับความสำเร็จ ซึ่งทุกท่านถือเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศไทย และขอฝากให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง สร้างความเข้มแข็ง และร่วมกันพัฒนาประเทศของเราให้ยั่งยืนต่อไป” นางสาวศุภมาส กล่าว

ทั้งนี้ทัพนักวิจัย ไบโอเทค สวทช. เข้ารับรางวัลหลายเวที ประกอบด้วย

งาน The 35thInternational Invention, Innovation & Technology Exhibition (ITEX 2024) ณ Kuala Lumpur City Centre กรุงกัวลาลัมเปอร์ สหพันธรัฐมาเลเซีย จำนวน 3 รางวัล ดังนี้

1.ดร.ถาวร รัตติทิวาพาณิชย์ดร.พรพรรณ พาณิชย์นำสิน นักวิจัยทีมวิจัยการจัดการและใช้ประโยชน์จากของเสียอุตสาหกรรมการเกษตร และ ดร.วรินธร สงคศิริ  ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยวิศวกรรมชีวเคมีและชีววิทยาระบบ ร่วมกับ ดร.อรรณพ นพรัตน์  ดร.ชัยวัฒน์ แววศักดิ์ นางสาวอรอมล เหล่าปิตินันท์ นายสุทธิพงษ์ ตั้งใฝ่คุณธรรม นายทนงค์ ฉายาวัฒนะ และ ดร.นันทิยา เปปะตัง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้รางวัล เหรียญทอง (Gold medal) และรางวัล TIPPA special award จาก Taiwan Invention Products Promotion Association (TIPPA) จากผลงานวิจัยเรื่อง “ระบบผลิตก๊าซชีวภาพประสิทธิภาพสูงรุ่นใหม่”

ผลงานวิจัยดังกล่าวเป็นการพัฒนาระบบผลิตก๊าซชีวภาพประสิทธิภาพสูงรุ่นใหม่ที่ผสมผสานการออกแบบทางวิศวกรรมขั้นสูง สามารถย่อยสลายสารอินทรีย์ในกากมันสำปะหลังจากกระบวนการผลิตแป้งมันสำปะหลังเพื่อให้ได้กรดอินทรีย์หรือก๊าซชีวภาพด้วยการควบคุมระยะเวลาการกักเก็บน้ำเสียให้เหมาะกับการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์กลุ่มผลิตกรดอินทรีย์และกลุ่มผลิตมีเทน สามารถผลิตกรดอินทรีย์ความเข้มข้น 8,132.64 มก.-TVA ต่อลิตร ที่ระยะเวลาในการกักเก็บน้ำเสีย (Hydraulic Retention Time: HRT) เพียง 3 วัน ซึ่งใช้ระยะเวลาสั้นกว่าเทคโนโลยีแบบอัตราการย่อยสลายต่ำ และใช้ประโยชน์จากของแข็งที่เหลือจากการย่อยสลายเป็นวัสดุปรับปรุงดินหรือใช้ผลิตปุ๋ยหมัก นอกจากนี้ ระบบดังกล่าวได้ออกแบบให้รองรับการป้อนกากมัน 400 ตันต่อวัน (ความชื้น 88%) โดยจากการทดสอบประสิทธิภาพการผลิตก๊าซชีวภาพในระบบผลิตก๊าซชีวภาพขนาดอุตสาหกรรม สามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้ไม่น้อยกว่า 343 m3 ต่อตันกาก ด้วยระยะเวลาการย่อยสลายเพียง 10 วัน ผลงานวิจัยนี้อยู่ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง ศช. และ มจธ. ภายใต้ศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทางด้านการจัดการและใช้ประโยชน์จากของเสียอุตสาหกรรมการเกษตร (ECoWaste)

2.ดร.เบญจรัตน์ บรรเทิงสุข นางสาวเกดสุดา เอี้ยววิริยะสกุล และนางสาววิภาวี ศรีทัศนีย์ นักวิจัยทีมวิจัยเทคโนโลยีเอนไซม์ กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีไบโอรีไฟเนอรีและชีวภัณฑ์ ร่วมกับ ผศ.ดร.หทัยกาญจน์ เลกากาญจน์ และนางสาวภาวรินทร์ บลทอง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับรางวัล เหรียญทอง (Gold medal)จากผลงานวิจัยเรื่อง “อิโวลิทอล ยีสต์สายพันธุ์ใหม่ Cyberlindnera fabianii ที่ผ่านการพัฒนาด้วยกระบวนการวิวัฒนาการที่มีประสิทธิภาพในการผลิตไซลิทอล”

ผลงานวิจัยดังกล่าวเป็นการพัฒนาสายพันธุ์ยีสต์ Cyberlindnera fabianii ด้วยกระบวนการวิวัฒนาการสำหรับนำไปใช้ในกระบวนการผลิตไซลิทอลจากน้ำตาลไซโลส ซึ่งไซลิทอลเป็นสารให้ความหวานที่มีแคลอรีต่ำ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและผลิตภัณฑ์ดูแลช่องปาก โดยยีสต์           C. fabianii สายพันธุ์ดัดแปลงสามารถผลิตไซลิทอลจากน้ำตาลไซโลสได้ปริมาณสูง (conversion yield มากกว่า 60%) และมีความจำเพาะสูง โดยไซลิทอลที่ผลิตได้มีความบริสุทธิ์มากกว่า 95% ช่วยลดต้นทุนของกระบวนการทำบริสุทธิ์ไซลิทอล (product purification) กระบวนการผลิตไซลิทอลด้วยยีสต์ดังกล่าวเป็นกระบวนการทางชีวภาพที่ดำเนินการภายใต้สภาวะอุณหภูมิห้องและไม่ใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาเคมี จึงเป็นกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ กระบวนการผลิตไซลิทอลด้วยยีสต์สายพันธุ์ดังกล่าวจะใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับการขยายขนาดกระบวนการผลิตในระดับกึ่งนำร่องสำหรับพัฒนากระบวนการผลิตไซลิทอลจากน้ำตาลไซโลสที่สกัดจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ชานอ้อย ฟางข้าวและซังข้าวโพด เป็นต้น เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรีในประเทศไทย

3.ดร.เบญจรัตน์ บรรเทิงสุข นักวิจัยทีมวิจัยเทคโนโลยีเอนไซม์ กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีไบโอรีไฟเนอรี และชีวภัณฑ์ ร่วมกับ ผศ.ดร. หทัยกาญจน์ เลกากาญจน์ นายดารัณ โปร่งจิต นางสาวมธุรดา เพียหอม  คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับรางวัล เหรียญทอง (Gold medal) จากผลงานวิจัยเรื่อง “โอลิโกไรซ์: มอลโตโอลิโกไซรัปจากข้าวสายพันธุ์ไทย”

ผลงานวิจัยดังกล่าวเป็นการพัฒนาต้นแบบกระบวนการผลิตโอลิโกไรซ์ที่เป็นน้ำเชื่อมฟังก์ชันพรีไบโอติก (prebiotics) ชนิด maltooligosacchrides และสารต้านอนุมูลอิสระจากข้าวสายพันธุ์ไทย โดยมี maltopentaose และ maltohexaose เป็นองค์ประกอบหลัก โดยผ่านกระบวนการผลิตทางชีวภาพด้วยระบบเอนไซม์ที่มีความจำเพาะและประสิทธิภาพสูง ซึ่งสามารถควบคุมความยาวของผลิตภัณฑ์ได้อย่างแม่นยำและมีปริมาณผลผลิตพลอยได้ต่ำ ต้นแบบกระบวนการผลิตโอลิโกไรซ์ที่พัฒนาขึ้นนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของข้าวที่มูลค่าต่ำ เช่น ข้าวหักและข้าวท่อน ตลอดจนเป็นการสร้างมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมอาหารฟังก์ชัน (functional food) และอุตสาหกรรมข้าวของประเทศไทยในอนาคต

งาน        The 17th International Invention and Innovation Show (INTARG2024) ณ เมืองคาโตไวซ์ สาธารณรัฐโปแลนด์ และรางวัล NRCT honorable mention award จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ จำนวน 1 รางวัล ดังนี้

1.ดร.เบญจพร สุรารักษ์ หัวหน้าทีมวิจัยการจัดการและใช้ประโยชน์จากของเสียอุตสาหกรรมการเกษตร กลุ่มวิจัยวิศวกรรมชีวเคมีและชีววิทยาระบบ ได้รับรางวัล เหรียญทอง (Gold medal) รางวัลDiamond award รางวัลSpecial prize จาก Korea Invention Promotion Association และรางวัล NRCT honorable mention award จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

จากผลงานวิจัยเรื่อง “การพัฒนาเทคโนโลยีการสร้างฟิล์มชีวภาพเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมีเทนจากน้ำเสียที่มีความเค็มสูง” ซึ่งเป็นผลงานร่วมกับ Dr.Nasrul Hudayah  ดร.วรรธนศักดิ์ สุขสง นางสาวนิมารดี บุญอาพัทธิ์เจริญ ดร.ชัยวัฒน์ แววศักดิ์ นางสาววารุณี คงดวล นางสาวอรอมล เหล่าปิตินันท์ นางสาวจันเพ็ญ อินทคล้าย และนางสาวดวงอนงค์ ผลาผล สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) งานวิจัยนี้อยู่ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง ศช. และ มจธ. ภายใต้ศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทางด้านการจัดการและใช้ประโยชน์จากของเสียอุตสาหกรรมการเกษตร (ECoWaste)

การบำบัดน้ำเสียและการผลิตก๊าซชีวภาพจากอุตสาหกรรมเกษตร เช่น โรงงานอาหารหมักดอง โรงงานผักและผลไม้หมักดอง โรงงานขนมจีน และโรงงานน้ำปลา โดยน้ำเสียจากโรงงานเหล่านี้จะมีเกลือโซเดียมคลอไรด์ เป็นองค์ประกอบ ซึ่งมีผลต่อการยับยั้งกิจกรรมของจุลินทรีย์ทุกกลุ่มในกระบวนการย่อยสลายแบบไม่ใช้อากาศโดยเฉพาะจุลินทรีย์ที่ผลิตมีเทน ส่งผลให้การบำบัดน้ำเสียและการผลิตก๊าซชีวภาพมีประสิทธิภาพต่ำ คณะวิจัยจึงได้พัฒนาฟิล์มชีวภาพจากตะกอนจุลินทรีย์ที่ผ่านกระบวนการเลี้ยงเพื่อเพิ่มจำนวนกลุ่มจุลินทรีย์ไร้อากาศที่ใช้กรดอินทรีย์ความเข้มข้นสูงและผลิตมีเทน โดยเพิ่มความสามารถในการทนต่อความเป็นพิษของเกลือโซเดียมคลอไรด์ที่ความเข้มข้นระดับต่าง ๆ และผลการทดสอบบำบัดน้ำเสียจากโรงงานอาหารที่มีความเข้มข้นของเกลือสูงพบว่า ฟิล์มชีวภาพที่พัฒนาขึ้นมีประสิทธิภาพสูงในการกำจัดสารอินทรีย์ ผลิตมีเทน และไม่พบการเปลี่ยนแปลงกลุ่มของจุลินทรีย์ในฟิล์มชีวภาพหลังจากใช้บำบัดน้ำเสีย องค์ความรู้ที่ได้นี้สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดเพื่อใช้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมีเทนจากน้ำเสียที่มีความเค็มสูงได้

งาน The 49th International Exhibition of Inventions Geneva (Geneva Inventions 2024) ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส และรางวัล NRCT Honorable Mention Award จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

ดร. กาญจนา แสงจันทร์ นักวิจัยทีมวิจัยการจัดการและใช้ประโยชน์จากของเสียอุตสาหกรรมการเกษตร กลุ่มวิจัยวิศวกรรมชีวเคมีและชีววิทยาระบบ และ ดร.วรินธร สงคศิริ   ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยวิศวกรรมชีวเคมีและชีววิทยาระบบ ร่วมกับ ดร.อรรณพ นพรัตน์  สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ (สรบ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี  (มจธ.) ได้รับรางวัล เหรียญเงิน (Silver Medal) และรางวัล NRCT Honorable Mention Award จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จากผลงานวิจัยเรื่อง “ชุดไฮโดรไซโคลนสำหรับเพิ่มความเข้มข้นและลดสิ่งเจือปนในกระบวนการผลิตแป้งมันสำปะหลัง” (Hydrocyclone for concentration and purification in cassava starch separation unit) งานวิจัยนี้อยู่ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง ศช. และ มจธ. ภายใต้ศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทางด้านการจัดการและใช้ประโยชน์จากของเสียอุตสาหกรรมการเกษตร (ECoWaste)

ผลงานวิจัยชุดไฮโดรไซโคลนประสิทธิภาพสูง ได้รับการออกแบบและพัฒนาสำหรับขั้นตอนการเพิ่มความเข้มข้นและทำความสะอาดในกระบวนการผลิตแป้งมันสำปะหลังโดยเฉพาะ สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการแยกแป้งและสิ่งเจือปนเมื่อเปรียบเทียบกับไฮโดรไซโคลนขนาดอุตสาหกรรมที่ใช้กันอยู่ทั่วไป โดยประสิทธิภาพการแยกแป้งสูงกว่า 90% และประสิทธิภาพการแยกโปรตีนและกำมะถันเพิ่มขึ้นเป็น 80% สามารถผลิตผลิตภัณฑ์สุดท้ายอยู่ในเกณฑ์ที่มาตรฐานอุตสาหกรรมกำหนด โดยชุดไฮโดรไซโคลนดังกล่าวถูกออกแบบทั้งสัดส่วน รูปแบบ การจัดเรียงโครงข่ายรวมทั้งสภาวะการผลิต ให้มีความเฉพาะและเหมาะสมกับการผลิตแป้งมันสำปะหลัง สามารถแก้ไขปัญหาการใช้ไฮโดรไซโคลนในอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลังที่ปัจจุบันมีเพียงขนาดเดียวและใช้กับหลายตำแหน่งในกระบวนการผลิต เป็นประโยชน์ต่อการออกแบบหรือผลิตเครื่องจักรในอุตสาหกรรมผลิตแป้งมันสำปะหลัง และโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังดิบ รวมทั้งลดการนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศ

นอกจากนี้แล้ว สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้นำผลงานวิจัยสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมของนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยเข้าร่วมประกวดและจัดแสดงในงาน The 17th International Invention and Innovation Show (INTARG2024) ณ เมืองคาโตไวซ์ สาธารณรัฐโปแลนด์ ซึ่งงาน INTARG 2024 เป็นเวทีที่นักประดิษฐ์และนักวิจัยจากนานาประเทศให้ความสนใจในการเข้าร่วมจัดแสดง ผลงานวิจัยและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการวิจัยและการประดิษฐ์คิดค้น ในงานดังกล่าวมีผลงานประดิษฐ์จากนานาประเทศมากกว่า 300 ผลงาน จากกว่า 20 ประเทศ  ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนนักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยในการได้แลกเปลี่ยนความรู้เทคโนโลยีและประสบการณ์กับนักประดิษฐ์และนักวิจัยจากนานาประเทศ พร้อมกับการแสดงความสามารถในการประดิษฐ์คิดค้นและมาตรฐานงานสู่ระดับนานาชาติ