BIOTEC

ทีมวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพทางทะเล

ข้อมูลเกี่ยวกับทีมวิจัย

วิสัยทัศน์ (Vision)
พัฒนางานวิจัย และบุคลากรด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางทะเลที่มีคุณภาพระดับนานาชาติ เพื่อนำประเทศไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

พันธกิจ (Mission)
มุ่งเน้นดำเนินงานวิจัยในด้านเทคโนโลยีชีวภาพการเพาะเลี้ยงทางน้ำ (Aquaculture biotechnology) เทคโนโลยีชีวภาพสิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล (Marine environmental biotechnology and biodiversity) และ เทคโนโลยีชีวภาพระดับโมเลกุลของกลไกภูมิคุ้มกันต้านโรคในกุ้งและสัตว์น้ำ (Molecular biotechnology) โดยดำเนินการภายใต้ความร่วมมือระหว่างไบโอเทค และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แนวทางการดำเนินงานวิจัย
แบ่งกลุ่มงานวิจัยย่อยออกเป็น 5 กลุ่ม ที่มีการประสานงานวิจัยและพัฒนาโดยมีความร่วมมือกันภายในทีมวิจัยฯ และประสานกับหน่วยงานภายนอกทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ เครื่องมือและสถานที่ในการวิจัยที่หน่วยงานต่าง ๆ มีอยู่ เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถสร้างองค์ความรู้ใหม่ให้แก่ประเทศ กลุ่มงานวิจัย 5 กลุ่มนี้ ได้แก่

1. กลุ่มวิจัยการเพาะพันธุ์ การเพาะเลี้ยงทางน้ำ อาหารสัตว์น้ำ และโปรไบโอติก
2. กลุ่มวิจัยพันธุกรรมโมเลกุล
3. กลุ่มวิจัยสิ่งแวดล้อมและระบบการเพาะเลี้ยงทางน้ำ
4. กลุ่มวิจัยชีววิทยาทางทะเล
5. กลุ่มวิจัยระบบภูมิคุ้มกันและการควบคุมโรคกุ้งและสัตว์น้ำ

บุคลากร
ทีมวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพทางทะเล มีจำนวนบุคลากรทั้งสิ้น 13 คน แบ่งเป็น ปริญญาเอก จำนวน 6 คน ปริญญาโท จำนวน 4 คน และปริญญาตรี จำนวน 3 คน (บุคลากรสายวิจัย 10 คน และสายสนับสนุน 3 คน)

ผลงานเด่น ทีมวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพทางทะเล

1. ระบบหมุนเวียนน้ำเพื่อการเลี้ยงสัตว์น้ำ (Recirculating Aquaculture System: RAS) และเทคโนโลยีระบบบำบัดไนเตรตแบบท่อยาว (Tubular Denitrification Reactor: TDNR)

การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแบบหนาแน่นทำให้เกิดการสะสมของสารอินทรีย์และของเสียตกค้างในบ่อเลี้ยงในปริมาณมาก หากมีการเปลี่ยนถ่ายน้ำและปล่อยของเสียดังกล่าวออกสู่แหล่งน้ำธรรมชาติจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จากข้อกำหนดและมาตรฐานการจัดการฟาร์มในปัจจุบันไม่อนุญาตให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำระบายน้ำทิ้งลงสู่แหล่งน้ำภายนอกฟาร์มโดยปราศจากการบำบัดก่อน ดังนั้นการพัฒนาระบบฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำที่ให้ผลผลิตสูง แต่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจึงเป็นสิ่งจำเป็น ผลการดำเนินงานในปี 2561 ประสบความสำเร็จในการพัฒนาระบบหมุนเวียนน้ำเพื่อการเลี้ยงปลานิลความหนาแน่นสูง ซึ่งถูกนำไปใช้งานในฟาร์มเพาะเลี้ยงปลานิล จังหวัดฉะเชิงเทรา นอกจากนี้ได้ให้คำปรึกษาและบริการเทคนิคการเดินระบบหมุนเวียนน้ำสำหรับเลี้ยงสัตว์น้ำให้กับบริษัทเอกชนจำนวน 2 บริษัท ส่งผลให้บริษัทสามารถดำเนินการเลี้ยงกุ้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Youtube : https://www.youtube.com/watch?v=OZjVwZ8KpYI
ข่าว : https://www.nstda.or.th/th/news/11755-20180126-nitrification-biofilter

2. ระบบผลิตแพลงก์ตอนพืชและแพลงก์ตอนสัตว์แบบต่อเนื่อง

สืบเนื่องจากปัญหาการขาดแคลนหัวเชื้อแพลงก์ตอนที่มีคุณภาพดีสำหรับนำมาใช้ในการอนุบาลลูกกุ้ง ทีมวิจัยฯจึงดำเนินการพัฒนาต้นแบบระบบผลิตไดอะตอมแบบต่อเนื่องสำหรับฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำและได้ยื่นจดสิทธิบัตรและ นำระบบต้นแบบไปทดลองใช้งานในฟาร์มเอกชนและหน่วยงานราชการ ได้แก่ ศูนย์วิจัยและพัฒนา สายพันธุ์กุ้ง และหน่วยกักกันโรคพ่อแม่กุ้งมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นอกจากนี้ได้ร่วมมือกับภาคเอกชนในการออกแบบ และจัดสร้างอุปกรณ์ติดตามปัจจัยสภาพแวดล้อมสําหรับบ่อทดลองเลี้ยงสาหร่ายในสภาวะกลางแจ้ง และทำการประเมินผลของปัจจัยสิ่งแวดล้อมต่อสรีรวิทยาการเติบโตของสาหร่ายในบ่อเลี้ยงกลางแจ้ง ตลอดจนมีความร่วมมือในการฝึกอบรมความรู้เกี่ยวกับสรีรวิทยาการเติบโตของสาหร่ายในสภาวะกลางแจ้งให้กับพนักงานบริษัทเพื่อนำไปใช้ในการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพจากสาหร่าย ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาได้ออกแบบและจัดสร้างระบบบ่อเลี้ยงสาหร่ายกลางแจ้ง และส่งมอบเครื่องมือตรวจสอบสรีรวิทยาการเติบโตของสาหร่ายในบ่อกลางแจ้งแล้ว

3. กลไกการต้านโรคของระบบภูมิคุ้มกันของกุ้งและสัตว์น้ำ

ปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อก่อโรค เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความเสียหายรุนแรงต่ออุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำโดยเฉพาะต่ออุตสาหกรรมกุ้งของประเทศ จากการมุ่งเน้นศึกษาวิจัยกลไกระดับโมเลกุล ตลอดจนบทบาทหน้าที่ของยีนที่สำคัญในระบบภูมิคุ้มกันของกุ้งและสัตว์น้ำ ทีมวิจัยฯได้ค้นพบองค์ความรู้ใหม่ของระบบภูมิคุ้มกันที่มีความสำคัญ เช่น กลไกการสร้างเมลานินในกุ้งโดยระบบโพรฟีนอลออกซิเดส (Prophenoloxidase) กลไกและฤทธิ์ทางชีวภาพของเปปไทด์ต้านจุลชีพ (Antimicrobial peptide) ต่อการต้านโรคในแบคทีเรีย Vibrio parahaemolyticus ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคตับและตับอ่อนวายเฉียบพลัน และไวรัส WSSV ในกุ้ง และได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัย review articles ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาไปสู่วิธีการป้องกันและควบคุมโรคที่มีประสิทธิภาพในกุ้งและสัตว์น้ำ

ทีมวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพทางทะเล

003348

ปิติ อ่ำพายัพ

นักวิจัยอาวุโส (หัวหน้าทีมวิจัย)

สิรินาถ เตชา

สิรินาถ เตชา

นักวิจัย

003444

ปวีณา ตปนียวรวงศ์

ผู้ช่วยวิจัยอาวุโส

ปาริชาติ ชุมทอง

ปาริชาติ ชุมทอง

ผู้ช่วยวิจัย

พัชรี โยควิบูล

พัชรี โยควิบูล

ผู้ช่วยวิจัย

เสรี ดอนเหนือ

เสรี ดอนเหนือ

เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ

ปรารถนา ปานทอง

ปรารถนา ปานทอง

เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ

802960

พทัศมน สบายสุข

ผู้ช่วยปฏิบัติงานวิจัย

ข้อมูลการติดต่อ

ทีมวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพทางทะเล
กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพสัตว์น้ำแบบบูรณาการ

ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กทม. 10330
โทร. 02-218-5279