ไบโอเทค-เนคเทค จับมือ มหิดล จัดสัมมนา “รามานสเปกโทรสโกปี: โอกาสใหม่ของการแพทย์ในยุคดิจิทัล” เทคโนโลยีช่วยพลิกโฉมการวินิจฉัยโรค

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) และ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โดยการสนับสนุนจาก สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จัดการประชุมวิชาการหัวข้อ “รามานสเปกโทรสโกปี: โอกาสใหม่ของการแพทย์ในยุคดิจิทัล” โดยมีนักวิจัย บุคลากรทางการแพทย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมงานกว่า 60 คน เพื่อร่วมกันสำรวจศักยภาพของเทคโนโลยีสเปกโทรสโกปีแบบรามาน (Raman Spectroscopy) ในการตรวจวินิจฉัยโรคติดเชื้อ ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญของวงการแพทย์ไทยสู่ยุคดิจิทัล เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมดวงกมล โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ

ภายในงานมีการนำเสนอผลงานวิจัยที่สำคัญ อาทิ

– พื้นฐานและการนำไปใช้ของรามานสเปกโทรสโกปีในทางการแพทย์” โดย ดร.นพดล นันทวงศ์ จากเนคเทค สวทช.

– “การประยุกต์ใช้สเปกโทรสโกปีแบบรามานและ SERS ในการวินิจฉัยทางการแพทย์” โดย ศ.ดร.เกียรติไชย ฟักศรี มหาวิทยาลัยขอนแก่น

รวมถึงเรื่องการประยุกต์ใช้ SERS ในการวินิจฉัยโรคไข้เลือดออก 2 หัวข้อ ได้แก่

– “ปัญหา ความท้าทาย และทิศทางงานวิจัยโรคไข้เลือดออก” โดย รศ.ดร.พญ.ปนิษฎี อวิรุทธ์นันท์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

– “การทดสอบสเปกโทรสโกปีแบบรามาน และ SERS ในโรคไข้เลือดออก” โดย ดร.ศันสนีย น้อยสคราญ จากไบโอเทค สวทช.

นอกจากนี้ ยังมีการอภิปรายในประเด็น “ความท้าทายและโอกาสของรามานสเปกโทรสโกปีในอนาคต” โดยผู้เชี่ยวชาญจากภาครัฐ แหล่งทุนวิจัย และภาคเอกชน เพื่อแสวงหาความร่วมมือและแนวทางในการผลักดันเทคโนโลยีนี้สู่การใช้จริงในระบบบริการสาธารณสุข

ทั้งนี้ “รามานสเปกโทรสโกปี” เป็นเทคนิควิเคราะห์ทางแสงที่สามารถตรวจจับโครงสร้างโมเลกุลของสารต่างๆ ได้อย่างละเอียด โดยมีเทคนิคการขยายสัญญาณที่เรียกว่า Surface-Enhanced Raman Spectroscopy (SERS) ซึ่งช่วยเพิ่มความไวของการตรวจจับสารชีวภาพ เช่น โปรตีน ไวรัส และชีวโมเลกุลอื่นๆ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาเครื่องมือวินิจฉัยทางการแพทย์ที่แม่นยำและรวดเร็ว

ปัจจุบัน ทีมวิจัยกำลังร่วมมือกันพัฒนา ระบบตรวจวินิจฉัยโรคไข้เลือดออก โดยใช้เทคโนโลยี SERS ควบคู่กับ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อวิเคราะห์และทำนายระดับความรุนแรงของโรค ซึ่งจะช่วยลดเวลาในการตรวจวินิจฉัยและเพิ่มโอกาสในการรักษาได้อย่างทันท่วงที

โดยผลจากการประชุมครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึง ศักยภาพของรามานสเปกโทรสโกปี ในการเปลี่ยนแปลงแนวทางการวินิจฉัยโรค โดยเฉพาะโรคติดเชื้อที่เป็นปัญหาสาธารณสุขระดับโลก ทั้งนี้ ความร่วมมือระหว่างภาควิชาการ หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน จะเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันให้เทคโนโลยีนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบสาธารณสุขไทย

หากมีการนำเทคโนโลยีนี้ไปประยุกต์ใช้อย่างแพร่หลาย นอกจากจะช่วยเพิ่มความแม่นยำในการตรวจโรค ยังสามารถลดต้นทุนและระยะเวลาของกระบวนการวินิจฉัย ซึ่งจะเป็น จุดเปลี่ยนสำคัญของวงการแพทย์ไทยในยุคดิจิทัล