
BIOTEC สวทช. มีการดำเนินงานวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวจากต้นน้ำ กลางน้ำ สู่ปลายน้ำ อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่
นวัตกรรมพันธุ์ข้าวใหม่และการผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพสูง (ต้นน้ำ)
การผลิตข้าวต้องเผชิญกับความท้าทายสำคัญ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โรคและแมลงศัตรูพืชที่เพิ่มขึ้น และความต้องการข้าวคุณภาพสูงจากผู้บริโภค ซึ่งส่งผลกระทบต่อปริมาณและคุณภาพของผลผลิต ทำให้เกิดความจำเป็นในการพัฒนานวัตกรรมด้านพันธุ์ข้าวและการผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพสูง ซึ่งเป็นแนวทางสำคัญในการเพิ่มผลผลิตและรักษาความมั่นคงทางอาหาร โดยอาศัยเทคโนโลยีชีวภาพและการเกษตรแบบแม่นยำ เพื่อให้ได้พันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตสูง ทนทานต่อโรคและแมลงศัตรูพืช รวมถึงสามารถปรับตัวต่อสภาพอากาศที่แปรปรวนได้ดี
นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับคุณค่าทางโภชนาการของข้าว เช่น ข้าวหอมมะลิ ข้าวอินทรีย์ และข้าวที่มีสารอาหารสูง ดังนั้น งานวิจัยนี้จึงมุ่งเน้นการพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ข้าว รวมถึงการผลิตเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพสูง เพื่อช่วยให้เกษตรกรสามารถผลิตข้าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงในการเพาะปลูก และสร้างความมั่นคงทางอาหารในระยะยาว
การผลิตข้าวเพื่อความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม: ข้าวคาร์บอนต่ำ (กลางน้ำ)
การผลิตข้าวอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมุ่งเน้นการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรในการปลูกข้าว ผ่านการลดการใช้สารเคมีและพลังงานในทุกขั้นตอน ตลอดจนการบริหารจัดการที่เหมาะสมเพื่อลดต้นทุนการผลิตและสร้างเสถียรภาพให้กับภาคการเกษตร
โดยแนวทางดังกล่าวเกิดขึ้นจากการตระหนักถึงปัญหาต่างๆ เช่น การใช้เมล็ดพันธุ์คุณภาพต่ำ การใช้สารเคมีอย่างไม่เหมาะสม การใช้น้ำเกินความจำเป็น และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพและปริมาณผลผลิต การพัฒนาเทคนิคการผลิตข้าวที่ยั่งยืนจึงเน้นการใช้พันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ การปรับปรุงเทคนิคการเกษตรเพื่ออนุรักษ์ดิน น้ำ และพลังงาน รวมถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
โดยหนึ่งในแนวทางสำคัญของการผลิตข้าวที่ยั่งยืนคือ “ข้าวคาร์บอนต่ำ” (Low Carbon Rice) ซึ่งหมายถึงข้าวที่ผลิตผ่านกระบวนการเกษตรที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดการปล่อยคาร์บอนในทุกขั้นตอน ตั้งแต่สายพันธุ์ วิธีการเพาะปลูก การเก็บเกี่ยวตลอดจนการแปรรูปข้าว ซึ่งช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมมาตรฐานการผลิตในระดับสากล
นอกจากนี้ ยังช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร สร้างโอกาสในการแข่งขัน และยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน การพัฒนาข้าวคาร์บอนต่ำอาศัยการบูรณาการพันธุ์ข้าวใหม่เข้ากับนวัตกรรมทางการเกษตร ควบคู่ไปกับการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เหมาะสมให้แก่ผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์และเกษตรกรเพื่อลดความเสี่ยงในการผลิต
นวัตกรรมการเพิ่มมูลค่าของข้าวไทยด้วยเทคโนโลยีการหมักแบบแม่นยำ (ปลายน้ำ)
ตลาดความงามและสุขภาพมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภคในปัจจุบัน โดยมีการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้การพัฒนาและนวัตกรรมทั้งกระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์ให้มีความโดดเด่น และสร้างความแตกต่างจากสินค้าที่มีอยู่ในท้องตลาด
ซึ่งปัจจุบันกระแสความนิยมมุ่งสู่การใช้วัตถุดิบที่เป็นธรรมชาติ มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงกรรมวิธีการผลิตที่เป็นเทคโนโลยีสีเขียว (Green technology) เทคโนโลยีชีวภาพจึงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนากระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ชีวภาพ (bioproducts) โดยอาศัยหลักการแปรสภาพทางชีวภาพ (biotransformation) ด้วยจุลินทรีย์
ซึ่งเทคโนโลยีการหมักแบบแม่นยำ (precision fermentation) ถือเป็นเทคโนโลยีหนึ่งที่มีศักยภาพสูงที่ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการเพิ่มมูลค่าของวัตถุดิบข้าวไทยเพื่อพัฒนาและนวัตกรรมกระบวนการผลิตส่วนประกอบฟังก์ชันสำหรับเครื่องสำอางในกลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลผิว (skin care product)
อ่านเพิ่มเติมได้ที่
https://nac2025-egaqakbcaefndxhx.southeastasia-01.azurewebsites.net/nac/2025/exhibitions/bpe35/