เปิดตัว “Seeding-Rebirth กระทงจากเส้นใยเห็ดรา” ผสมผสานวิทยาศาสตร์ด้านวัสดุและเทคโนโลยีชีวภาพจากไมซีเลียม กับ ประเพณีลอยกระทง จ.ตาก

ภายใต้ความร่วมมือกับโครงการส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (เหมืองผาแดง) อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก นำโดยนักวิจัยจากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. และ นักวิจัยจากสาขาวิชาวัสดุศาสตร์และนวัตกรรมวัสดุ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับนักวิจัยและพันธมิตรจากหลากหลายองค์กร ได้แก่ 1) โครงการภาคภาษาอังกฤษ โรงเรียนสตรีนนทบุรี 2) คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 3) บริษัท เมิร์จ จำกัด 4) เครือข่ายเพื่อนสวนพฤกษ์ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก 5) กรมป่าไม้ (เหมืองผาแดง) และ 6) สำนักงานเทศบาลเมืองตาก ได้ร่วมกันพัฒนา “Seeding-Rebirth กระทงจากเส้นใยเห็ดรา” เปิดตัวครั้งแรกในงานวันลอยกระทง ค่ำคืนที่ 15 พฤศจิกายน 2567 ณ สำนักงานเทศบาลเมืองตาก อ.เมืองตาก จ.ตาก ด้วยการใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์จากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร สู่ผลิตภัณฑ์กระทงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม พร้อมพัฒนาศักยภาพชุมชนในเรื่องความรู้และทักษะด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ตลอดจนส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในอนาคต

ดร.นัฐวุฒิ บุญยืน นักวิจัยทีมวิจัยปฏิสัมพันธ์ของจุลินทรีย์ทางการเกษตร ไบโอเทค-สวทช. และ ผศ.ดร.หนึ่งนิตย์ วัฒนวิเชียร จากสาขาวิชาวัสดุศาสตร์และนวัตกรรมวัสดุ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นนักวิจัยหลักในการพัฒนา “Seeding-Rebirth กระทงจากเส้นใยเห็ดรา” นักวิจัยทั้งสองได้เผยว่า การนำเสนอนวัตกรรมครั้งนี้เป็นการพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์จากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร เช่น ผักตบชวาและขี้เลื่อยไม้ยางพารา โดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เชื่อมโยงกับเส้นใยเห็ดราในฐานะกาวธรรมชาติ อีกทั้งได้ให้นักเรียนและครูจากโครงการภาคภาษาอังกฤษ โรงเรียนสตรีนนทบุรี ได้แก่ นางสาวสุภัสสร สังขะวรรณะ นางสาวสุภัสสรา สังขะวรรณะ นางสาวสุพิชญา เอี่ยมธนากุล และ ครู ปณิธาน จันทราปัตย์ ร่วมกันทำโครงการวิทยาศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย/ภาคภาษาอังกฤษ โรงเรียนสตรีนนทบุรี ร่วมด้วย ผศ.ดร.ปรียาพร เกิดฤทธิ์ และ ดร.จักรพล พันธุวงศ์ภักดี จากคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมในการสร้างสรรค์กระทงดังกล่าว

โดยผลงาน “Seeding-Rebirth กระทงจากเส้นใยเห็ดรา” เป็นส่วนหนึ่งของการต่อยอดจากผลงาน “ไมซีเลียมปลูกป่ารูปหัวใจ” และ “ไมโค-บล็อกจากกากกาแฟ” ภายใต้โครงการ “การอนุรักษ์ฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพและเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนในพื้นที่เหมืองผาแดง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดตาก ตามโมเดลการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG” ซึ่งเป็นความร่วมมือกับโครงการส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดตาก

นายกานดิษฏ์ สิงหกัน ผู้อำนวยการส่วนยุทธศาสตร์และแผนงานตามแนวพระราชดำริ สำนักโครงการพระราชดำริและกิจการพิเศษ กรมป่าไม้ ในฐานะหัวหน้าโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ฯ ได้มอบหมายให้ นายคมน์ เครืออยู่ นักวิชาการป่าไม้ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่โครงการฯ ร่วมกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อมกับ นายณพล ชยานนท์ภักดี นายกเทศมนตรีเมืองตาก และนางสาว ธมลวรรณ เจริญวงศ์พิสิฐ ผู้อำนวยการสำนักงาน ททท. สำนักงานตาก โดยโครงการส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมฯ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ร่วมกับพันธมิตร ได้นำเมล็ดพืชสำหรับปลูกป่าฝังลงใน “Seeding-Rebirth กระทงจากเส้นใยเห็ดรา”  ซึ่งถูกนำไปสาธิตและประยุกต์ใช้ร่วมในงานประเพณีลอยกระทงสายไหลประทีป 1,000 ดวง จังหวัดตาก ประจำปี 2567 ในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 ประเพณีนี้เป็นวัฒนธรรมเก่าแก่ที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน

โดยปีนี้มีการลอย “Seeding-Rebirth กระทงจากเส้นใยเห็ดรา” ร่วมกับกระทงที่ทำจากกะลามะพร้าวและวัสดุธรรมชาติอื่น ๆ ภายในบรรจุขี้ไต้หรือเชื้อเพลิงที่เตรียมไว้ แล้วจุดไฟปล่อยลงในแม่น้ำปิง ด้วยการจัดระยะห่างที่สม่ำเสมอ ทำให้กระทงส่องแสงระยิบระยับเต็มท้องน้ำ ลอยไปตามสายน้ำของลำน้ำปิง โดย “Seeding-Rebirth กระทงจากเส้นใยเห็ดรา” นำไปสู่การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ที่เหมืองผาแดง ภายใต้โครงการส่งเสริมการเรียนรู้ฯ ด้วย ซึ่งพื้นที่แห่งนี้เน้นการส่งเสริมพื้นที่เกษตรและป่าชุมชนเพื่อต่อยอดโครงการสร้างป่า สร้างรายได้ผ่านกิจกรรมการท่องเที่ยวสีเขียว (Green Tourism) ชุมชนแนวใหม่ ก่อให้เกิดช่องทางรายได้เพิ่ม สร้างความตระหนักรู้ของคุณค่าพื้นที่บ้านเกิด และสร้างกระบวนการเรียนรู้เพื่ออยู่ร่วมกันกับระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ อย่างยั่งยืน (Nature-Based Solution) อีกทั้งคาดว่าจะช่วยลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ลดโลกร้อน และในอนาคตต้นไม้ที่ปลูกนั้นสามารถนำไปสร้างคาร์บอนเครดิตเพื่อช่วยเพิ่มรายได้ให้กับพื้นที่ได้ด้วย ถือเป็นหนึ่งในรูปแบบโมเดลเศรษฐกิจแบบใหม่ หรือ BCG model ของประเทศ

นายอิทธิพล พรหมฝาย นักออกแบบจากบริษัท เมิร์จ จำกัด และผู้ประสานงานเครือข่ายเพื่อนสวนพฤกษ์ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ “Seeding-Rebirth กระทงจากเส้นใยเห็ดรา” ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ผสมผสานการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเข้ากับการสร้างความยั่งยืนให้กับจังหวัดตาก โดยกระทงนี้จะถูกนำไปใช้ต่อในโครงการอนุรักษ์ป่า ร่วมกับภาคการศึกษาท้องถิ่นหลังจากลอยกระทงเสร็จ ทั้งยังมีกระทงบางส่วนที่บรรจุเมล็ดพันธุ์พืชสวนครัวและดอกไม้ ซึ่งจะเจริญเติบโตเป็นต้นไม้ และกลายเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างป่า สร้างรายได้ ให้กับชุมชนและโรงเรียนด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ โรงเรียนบ้านสันป่าไร่ รวมถึงเสริมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ นวัตกรรมเกี่ยวกับ “Seeding-Rebirth กระทงจากเส้นใยเห็ดรา” นี้ยังสอดคล้องกับงานวิจัยทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ในการเชื่อมโยงกับภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่เคยได้รับความสนใจในสื่อสังคม รวมถึงการพัฒนาโครงการเกษตรที่มีคุณค่าและยั่งยืน ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการรักษาพื้นที่ป่าหลังจากเมล็ดงอกและเจริญเติบโตต่อไป ทั้งนี้หวังว่าโครงการดังกล่าวยังถูกยกระดับเป็นหนึ่งผลิตภัณฑ์ของประเพณีในฐานะหนึ่งใน  “soft power” ของจังหวัดตาก ผ่านการสนับสนุนจากเครือข่ายภาคเอกชนและหอการค้าจังหวัดตาก เป้าหมายหลักของความร่วมมือนี้ คือการสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนและประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งพัฒนาศักยภาพของชุมชนในความรู้และทักษะด้านเทคโนโลยีชีวภาพ นอกจากนี้ยังเน้นการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในอนาคต