ทีมวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์กุ้ง
ข้อมูลเกี่ยวกับทีมวิจัย
ทีมวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์กุ้ง กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพสัตว์น้ำแบบบูรณาการ เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งภายใต้ความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐสองหน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีวัตถุประสงค์ เพื่อใช้เป็นสถานที่ในการวิจัย พัฒนาพันธุ์สัตว์น้ำ โดยมุ่งเน้นการคัดเลือกสายพันธุ์กุ้งกุลาดำ (Penaeus monodon) และจัดเป็น “ศูนย์ผสมและคัดเลือกสายพันธุ์” (Nucleus Breeding Center ; NBC)
การพัฒนาสายพันธุ์กุ้งเป็นการประสานกันระหว่างหน่วยงาน 3 หน่วย คือ ด่านกักกันโรค (Quarantine) ศูนย์ผสมและคัดเลือกสายพันธุ์ (NBC) และศูนย์เพิ่มจำนวนพ่อแม่พันธุ์ (BMC) ในการพัฒนาสายพันธุ์กุ้งกุลาดำเริ่มต้นโดยการนำกุ้งกุลาดำจากธรรมชาติ (W) อย่างน้อย 50 สายพันธุ์มาผสมไขว้กันเพื่อหาลักษณะที่ต้องการ เช่น การเจริญเติบโต การต้านทานโรคหรือลักษณะอื่นๆ จนได้ลูกกุ้งรุ่นแรก (FO) ทำการเลี้ยงลูกกุ้งรุ่นดังกล่าวจนเป็นพ่อแม่พันธุ์ในด่านกักกันโรค แล้วจึงนำไปผลิตลูกกุ้งรุ่น F1 ซึ่งเป็นกุ้งที่ปลอดเชื้อจำเพาะ (specific pathogen free; SPE) หลังจากนั้นจึงส่งลูกกุ้งรุ่น F1 ไปยังศูนย์ผสมและคัดเลือกสายพันธุ์ (NBC) เลี้ยงจนกุ้งโตเป็นพ่อแม่พันธุ์แล้วจึงทำการผสมและคัดเลือกสายพันธุ์ที่ต้องการ ศูนย์ฯดังกล่าวจะส่งลูกกุ้งที่ผ่านการคัดเลือกที่ดีที่สุด 2 ครอบครัว (F2) ไปยังศูนย์เพิ่มจำนวนพ่อแม่พันธุ์ (BMC) ศูนย์ฯนี้จะเลี้ยงกุ้งจนโตเป็นพ่อแม่พันธุ์แล้วจึงนำพ่อแม่พันธุ์ดังกล่าวไปผลิตนอเพลียสและลูกกุ้งระยะโพสต์ลาวาหรือกุ้งพี (postlarvae; PL) เพื่อส่งต่อให้เกษตรกรต่อไป สถานที่ตั้งของหน่วยงานทั้ง 3 หน่วยนี้แยกออกจากกัน เพื่อประโยชน์ในการจัดการ การป้องกันและควบคุมการระบาดโรค
วิสัยทัศน์
– เป็นศูนย์กลางระดับโลกในการคัดเลือกสายพันธุ์กุ้งกุลาดำและรวมถึงกุ้งเขตร้อนชนิดอื่นๆ ในอนาคต
– เป็นศูนย์วิจัยกุ้งเขตร้อนระดับนานาชาติ มุ่งเน้นการวิจัยที่เกี่ยวกับการคัดเลือกพันธุกรรม (genetic selection) เช่น สรีรวิทยาการสืบพันธุ์ (reproductive physiology) ลักษณะที่แสดงออกในระดับยีนส์และระดับโปรตีน (genomic and proteomic expression) และอื่นๆ
วัตถุประสงค์
– เพื่อใช้เป็นสถานที่เก็บรักษา วิจัย และพัฒนาสายพันธุ์กุ้งกุลาดำสำหรับประเทศไทย
– เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีพื้นฐาน และเทคโนโลยีประยุกต์ ที่จะเสริมงานวิจัย การพัฒนานวัตกรรมการถ่ายทอดเทคโนโลยี และการบริการวิชาการด้านการพัฒนาพันธุ์สัตว์น้ำ
– เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ สู่เกษตรกรและภาคอุตสาหกรรมการเกษตร
– เพื่อผลิตและพัฒนาบุคลากรในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของประเทศไทย
ส่วนงานต่างๆ ภายในหน่วยปฏิบัติการร่วมด้านการพัฒนาพันธุ์สัตว์น้ำ
หน่วยปฏิบัติการร่วมด้านการพัฒนาพันธุ์สัตว์น้ำ แบ่งงานออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนงานภายในเขตปลอดเชื้อ (Biosecure) และ ส่วนงานภายนอกเขตปลอดเชื้อ
เขตปลอดเชื้อ
เป็นพื้นที่รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 130 เมตร ยาว 275 เมตร พื้นที่ทั้งหมดล้อมรอบด้วยรั้วคอนกรีตสูง 1.5 เมตร ในเขตปลอดเชื้อจะมีการควบคุมการผ่านเข้าออกของบุคคลและสัตว์พาหะต่างๆ อย่างเข้มงวด พนักงานที่เข้าไปปฏิบัติงานในพื้นที่ดังกล่าว ต้องอาบน้ำ เปลี่ยนชุดปฏิบัติงานภายในที่ได้จัดเตรียมไว้ให้ เพื่อป้องกันการนำเชื้อโรคที่เป็นอันตรายต่อกุ้ง เนื่องจากกุ้งที่เลี้ยงในเขตปลอดเชื้อนี้ได้ผ่านการตรวจสอบแล้วว่าปลอดเชื้อก่อโรคจำเพาะ (Specific pathogen free)
ส่วนงานภายในเขตปลอดเชื้อ
– อาคารเพาะฟัก เป็นอาคารสำหรับเตรียมความพร้อมพ่อแม่พันธุ์ ประกอบด้วยห้องผสมเทียม ห้องพ่อแม่พันธุ์ ห้องวางไข่ และ ห้องพักไข่ สามารถรองรับพ่อแม่พันธุ์กุ้งได้ 480 ตัว ต่อรอบการผลิต
– อาคารอนุบาลลูกกุ้ง เป็นอาคารสำหรับอนุบาลลูกกุ้งตั้งแต่ระยะนอเพลียสถึงระยะโพสต์ลาวา โดยนอเพลียสเพียงบางส่วนจากแม่พันธุ์แต่ละตัวจะถูกนำมาอนุบาลต่อเป็นระยะโพลต์ลาวา เพื่อเลี้ยงต่อไปเป็นพ่อแม่พันธุ์
– อาคารเพาะเลี้ยงไดอะตอม เป็นอาคารสำหรับเพาะเลี้ยงไดอะตอมเพื่อเป็นอาหารลูกกุ้งวัยอ่อนโดยชนิดหลักที่เพาะเลี้ยง ได้แก่ Thalassiosira sp.
– อาคารอาร์ทีเมีย เป็นอาคารสำหรับการเพาะฟักไข่อาร์ทีเมีย เพื่อควบคุมและลดการปนเปื้อน หรือการติดเชื้อแบคทีเรียที่เป็นอันตรายต่อลูกกุ้ง เช่น แบคทีเรียกลุ่มวิบริโอ (Vibrio spp.) ให้มากที่สุด
– อาคารเพาะเลี้ยงเพรียงทราย (ไส้เดือนทะเล) เป็นอาคารสำหรับการเพาะเลี้ยงเพรียงทรายซึ่งเป็นอาหารสดที่จำเป็นสำหรับพ่อแม่พันธุ์กุ้ง อาคารเพาะเลี้ยงนี้ออกแบบสำหรับการเพาะเลี้ยงเพรียงทรายชนิด Perinereis nuntia และเพรียงทรายเขตร้อนอื่น ๆ อย่างครบวงจร ภายใต้การจัดการและควบคุมโรคอย่างเข้มงวด (SPF)
– บ่อเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์กุ้ง :
ระยะเริ่มแรก : เป็นอาคารสำหรับเลี้ยงลูกกุ้งจากระยะโพสต์ลาวา 15 (พี15) จนถึง 1 กรัม แล้วจึงทำเครื่องหมายบนกุ้งแต่ละตัวด้วยการฉีดสีพลาสติกที่มองเห็นได้ (visible implanted elastomer) เพื่อให้สามารถจำแนกครอบครัวกุ้งแต่ละตัวได้ในภายหลัง ในขณะเดียวกันก็จะตรวจสอบลักษณะครอบครัวของกุ้งเหล่านี้โดยเทคนิค microsatellite maker ร่วมด้วย
ระยะต่อมา : กุ้งที่ฉีดสีเพื่อแยกครอบครัวแล้ว จะถูกส่งไปเลี้ยงรวมกันในบ่อซึ่งเป็นบ่อที่อยู่ภายในอาคารปิด มุงหลังคาด้วยกระเบื้องใส ระยะเวลาการเลี้ยงกุ้งจนเป็นพ่อแม่พันธุ์จะใช้เวลาประมาณ 1 ปี ในระหว่างการเลี้ยงจะทำการย้ายกุ้งไปลงบ่อใหม่ 2-3 ครั้ง เนื่องจากบ่อเดิมมีของเสียสะสมเพิ่มมากขึ้นและเพื่อเป็นการลดความหนาแน่นของกุ้ง
ส่วนงานภายนอกเขตปลอดเชื้อ
อาคารสำนักงานและห้องปฏิบัติการ : อาคารสำนักงาน ประกอบด้วย ห้องประชุม ห้องทำงานและห้องปฏิบัติการ โดยห้องปฏิบัติการของหน่วยปฏิบัติการร่วมด้านการพัฒนาพันธุ์สัตว์น้ำ ทำหน้าที่ตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำ การตรวจวินิจฉัยโรคสัตว์น้ำ รวมทั้งมีขีดความสามารถในการปฏิบัติงานวิจัยต่างๆ ในทางชีววิทยาโมเลกุล (molecular biology)
หอพัก : รองรับการเข้าพักอาศัยของพนักงานและบุคลากรรวมทั้งแขกผู้มาเยือน หอพักของหน่วยปฏิบัติการร่วมด้านการพัฒนาพันธุ์สัตว์น้ำ ประกอบด้วยห้องพักขนาดต่างๆ ห้องรับประทานอาหาร ห้องออกกำลังกาย และห้องสันทนาการ
ระบบน้ำ
น้ำเค็มใช้ภายในหน่วยปฏิบัติการร่วมด้านการพัฒนาพันธุ์สัตว์น้ำ สูบมาจากทะเลห่างจากฝั่ง 400 เมตร เข้ามาตกตะกอนในบ่อตกตะกอนที่ 1 สูบน้ำเฉพาะส่วนใสด้านบนไปยังบ่อตกตะกอนที่ 2 สูบผ่านระบบกรองทรายแบบไหลย้อนขึ้น (Upflow sand filter) และผ่านถังกรองทรายแรงดันสูง (pressure sand filter) แล้วจึงนำไปเก็บไว้ในบ่อเก็บน้ำเพื่อปรับคุณสมบัติของน้ำ เช่น ความเป็นกรด-ด่าง (pH) ความเค็ม (salinity) ความเป็นด่าง (alkalinity) และคุณสมบัติอื่นๆ ในบ่อคอนกรีตความจุขนาด 100 ตัน จำนวนทั้งหมด 40 บ่อ ในการปรับความเค็มของน้ำ
หน่วยปฏิบัติการร่วมด้านการพัฒนาพันธุ์สัตว์น้ำ มีบ่อน้ำจืด 2 บ่อ ที่ใช้สำหรับปรับความเค็มอยู่ด้านหลังของพื้นที่ปลอดเชื้อบ่อที่หนึ่งเป็นบ่อธรรมชาติที่พักน้ำไว้จนตกตะกอนแล้วจึงสูบน้ำส่วนใสด้านบนไปเก็บไว้ในบ่อเก็บน้ำจืดสะอาด ซึ่งหลังจากนั้นน้ำจืดจะกรองผ่านระบบกรองทรายแบบไหลย้อนขึ้นลงถังกรองทรายแรงดันสูงเช่นเดียวกับน้ำเค็มแล้วจึงนำไปผสมกับน้ำทะเลเพื่อปรับความเค็ม เมื่อได้น้ำที่มีคุณสมบัติเหาะสมแล้วฆ่าเชื้อด้วยคลอรีนความเข้มข้น 40 ppm. ให้ออกซิเจนจนหมดคลอรีน จึงสูบน้ำดังกล่าวไปฆ่าเชื้อด้วยโอโซนแล้วจึงนำไปเก็บไว้ในบ่อเก็บน้ำของแต่ละหน่วยงานภายในเขตปลอดเชื้อ และก่อนนำน้ำจากบ่อเก็บน้ำของแต่ละอาคารไปใช้จะผ่านการฆ่าเชื้ออีกครั้งหนึ่งด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งหรือทุกวิธีต่อไปนี้
– แสงอัลตราไวโอเลต (Ultraviolet: UV)
– การแยกโปรตีน (Foam fractionation)
– ถังกรองชีวภาพ (Biofiltration)
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะของน้ำที่ใช้ในแต่ละหน่วยงาน บางหน่วยงานอาจมีการเปลี่ยนถ่ายน้ำทุกวัน ตั้งแต่ 0-30% หรืออาจใช้การถ่ายน้ำแบบไหลผ่าน (flow-through) ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม น้ำทิ้งทั้งหมดที่ออกจากหน่วยปฏิบัติการร่วมด้านการพัฒนาพันธุ์สัตว์น้ำจะถูกส่งผ่านท่อน้ำใต้ดินความยาวประมาณ 500 เมตรจากเขตปลอดเชื้อไปยังบ่อบำบัดน้ำหน่วยปฏิบัติการร่วมด้านการพัฒนาพันธุ์สัตว์น้ำ ซึ่งจะบำบัดน้ำด้วยวิธีธรรมชาติ คือ ให้น้ำผ่านบ่อ ปลา หอย และสาหร่ายตามลำดับ ทำการตรวจเช็คคุณภาพน้ำตามมาตรฐานคุณภาพน้ำทิ้งและจึงปล่อยออกสู่แหล่งน้ำธรรมชาติโดยค่า BOD (Biological Oxygen Demand) หลังผ่านกระบวนการบำบัดจะต่ำกว่า 20 พีพีเอ็ม ตามมาตรฐานสิ่งแวดล้อม หน่วยปฏิบัติการร่วมด้านการพัฒนาพันธุ์สัตว์น้ำ อยู่ภายใต้การดำเนินงานของกลุ่มวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพสัตว์น้ำแบบบูรณาการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ประกอบด้วยบุคลากรฝ่ายต่างๆ ได้แก่ ฝ่ายบริการ ฝ่ายการศึกษาและประชาสัมพันธ์ ฝ่ายบัญชีการเงินและบุคคล ฝ่ายห้องปฏิบัติการ และฝ่ายซ่อมบำรุง อาคารและสาธารณูปโภคของหน่วยปฏิบัติการร่วมด้านการพัฒนาพันธุ์สัตว์น้ำ สามารถรองรับพนักงานได้สูงสุด 50 คน และมีที่พักให้บุคลากรภายนอกรวมถึงนักวิจัยจากสถาบันต่างๆ ทีมีงานวิจัยร่วมกับหน่วยปฏิบัติการร่วมด้านการพัฒนาพันธุ์สัตว์น้ำพักได้ประมาณ 10-20 คน
หน่วยปฏิบัติการร่วมด้านการพัฒนาพันธุ์สัตว์น้ำ มีความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ ทั้งภาครัฐและเอกชน มีวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนความรู้ภายในกลุ่มนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆที่เกี่ยวข้อง และสร้างความเชื่อมโยงไปยังกลุ่มของเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง นำไปสู่การเลี้ยงกุ้งอย่างถูกหลักวิชาการ ทำให้มีผลกำไรจากการเลี้ยงมากขึ้น ทั้งยังได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงกุ้งอยู่เสมอ การบริการและการถ่ายทอดเทคโนโลยี
หน่วยปฏิบัติการร่วมด้านการพัฒนาพันธุ์สัตว์น้ำ จัดอบรมสัมมนาให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งและบุคลากรในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอย่างสม่ำเสมอ โดยจัดขึ้นทั้งที่หน่วยปฏิบัติการร่วมด้านการพัฒนาพันธุ์สัตว์น้ำ และฟาร์มเครือข่ายที่ให้ความร่วมมือ รวมถึงความร่วมมือกับเกษตรกรในท้องถิ่น
– การตรวจสอบเชื้อไวรัสโดยใช้เทคโนโลยี DNA-based (Conventional, Nested and Real-time PCR)
– ระบบการเลี้ยงกุ้งปลอดเชื้อ (Biosecurity System)
– การผสมเทียมกุ้ง (Artificial Insemination)
– การจำแนกครอบครัวกุ้งโดยใช้ดีเอ็นเอเครื่องหมาย (Microsatellite Markers) และวิธีการอื่นๆ
– การทำเครื่องหมาย EST (Expressed Sequence Tag)
– การจำแนกกุ้งรายตัว (PIT Tag RFID)
นักวิจัยอาวุโส (หัวหน้าทีมวิจัย)
เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการอาวุโส
เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ
เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ
เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ
เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ
เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ
เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ
เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ
เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ
เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ
เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ
วิศวกร
เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป
เจ้าหน้าที่บริหารอาคาร
ทีมวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์กุ้ง
กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพสัตว์น้ำแบบบูรณาการ
หน่วยปฏิบัติการร่วมด้านการพัฒนาพันธุ์สัตว์น้ำ
กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพสัตว์น้ำแบบบูรณาการ
ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ศช.)
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
333 หมู่ที่ 5 ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี 84110
โทรศัพท์ 0 7727 0776-8
โทรสาร 0 7727 0779