ดร.ธีรยุทธ ตู้จินดา รักษาการรองผู้อำนวยการไบโอเทค ด้านวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพเกษตร และ ดร.นิศรา การุณอุทัยศิริ นักวิจัยอาวุโส ทีมวิจัยไมโครอะเรย์แบบครบวงจร กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยและการค้นหาสารชีวภาพ ได้รางวัลผู้สมควรให้ปาฐกถาอายิโนะโมะโต๊ะ และ รางวัลทะกุจิ ประเภทนักวิจัยดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2564 จากสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพแห่งประเทศไทย ตามลำดับ โดยพิธีมอบรางวัลและโล่เกียรติคุณจัดขึ้นในการประชุมวิชาการประจำปีของสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพแห่งประเทศไทย The 33rd Annual Meeting of the Thai Society for Biotechnology and International Conference (TSB 2021) “Innovative Biotechnology: Driving Solutions for SDGs” เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2564
ดร. ธีรยุทธ ตู้จินดา ได้รางวัลผู้สมควรให้ปาฐกถาอายิโนะโมะโต๊ะ จากผลงานวิจัยเรื่อง เรื่อง “ข้าวไทย : พันธุ์ดี กินดี อยู่ดี ยั่งยืน” ซึ่งมุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีเครื่องหมายโมเลกุลช่วยคัดเลือก (Marker Assisted Selection: MAS) มาใช้ในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวเพื่อความมั่นคง พันธุ์ข้าวเพื่อการส่งออก และพันธุ์ข้าวคุณสมบัติพิเศษทางด้านโภชนาการ ได้แก่ การปรับปรุงพันธุ์ข้าวเหนียว เพื่อความมั่นคงสำหรับภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนพันธุ์โดยกรมวิชาการเกษตรแล้ว เช่น ข้าวเหนียวพันธุ์ธัญสิริน ไวต่อช่วงแสง คุณภาพต้มดีใกล้เคียงกับพันธุ์ กข6 ต้านทานโรคไหม้แบบกว้าง และไม่หักล้ม ข้าวเหนียวพันธุ์น่าน 59 ไวต่อช่วงแสง ต้นเตี้ย คุณภาพต้มดีใกล้เคียงกับพันธุ์ กข6 ต้านทานโรคไหม้และโรคขอบใบแห้งแบบกว้าง ข้าวเหนียวพันธุ์หอมนาคา ไม่ไวต่อช่วงแสง หอมและมีคุณภาพหุงต้มดีใกล้เคียงกับพันธุ์ กข6 ทนต่อน้ำท่วมฉับพลัน ทนแล้ง ต้านทานโรคไหม้และโรคขอบใบแห้ง การปรับปรุงพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 เพื่อสร้างเสถียรภาพในการผลิต สนับสนุนความสามารถในการแข่งขันเพื่อการส่งออก ซึ่งได้รับการรับรองพันธุ์จากกรมการข้าวแล้ว เช่น พันธุ์ กข51 คุณภาพหุงต้มดีใกล้เคียงกับพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 ทนน้ำท่วมฉับพลัน พันธุ์ กข75 ต้านทานโรคไหม้ พันธุ์หอมสยาม ไวต่อช่วงแสง คุณภาพใกล้เคียงกับพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 ผลผลิตสูง ต้นเตี้ยทนการหักล้ม ปรับตัวได้ดีในสภาพน้ำน้อย การพัฒนาพันธุ์ข้าวเจ้าพื้นนุ่ม เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันเพื่อการส่งออก และความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนพันธุ์โดยกรมวิชาการเกษตรแล้ว เช่น พันธุ์หอมชลสิทธิ์ ข้าวเจ้าไม่ไวต่อช่วงแสง มีกลิ่นหอม ผลผลิตสูง ทนต่อน้ำท่วมฉับพลัน เหมาะสำหรับพื้นเสี่ยงน้ำท่วม พันธุ์หอมจินดา ข้าวเจ้าไม่ไวต่อช่วงแสง มีกลิ่นหอม อะไมโลสต่ำ ผลผลิตสูง ต้านทานโรคขอบใบแห้ง พันธุ์ธัญญา6401 ข้าวเจ้าไม่ไวต่อช่วงแสง อะไมโลสต่ำ ผลผลิตสูง ต้านทานโรคขอบใบแห้ง ซึ่งพันธุ์ข้าวเหล่านี้ช่วยลดความเสี่ยงของเกษตรกรจากสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศไทยให้สูงมากขึ้น
ดร.นิศรา การุณอุทัยศิริ ได้รับรางวัลทะกุจิ ประเภทนักวิจัยดีเด่น จากผลงานวิจัย เรื่อง “การถอดรหัสพันธุกรรมของจีโนมกุ้งกุลาดำและการใช้ประโยชน์เพื่ออุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้ง” โดยมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีชีวภาพเข้ามาช่วยในการศึกษาพันธุกรรมและการตอบสนองของกุ้งกุลาดำต่อสภาวะต่างๆ ในการเพาะเลี้ยง และอาหารที่หลากหลายในระดับอณูชีวภาพ เพื่อปรับปรุงการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น ทีมวิจัยของไบโอเทค นำโดย ดร. นิศรา ประสบความสำเร็จในการถอดรหัสพันธุกรรมของจีโนมกุ้งกุลาดำได้ถึงระดับโครโมโซม โดยใช้เทคโนโลยี long-read Pacific Biosciences (PacBio), long-range Chicago และ Hi-C ทำให้สามารถถอดรหัสพันธุกรรมของจีโนมกุ้งกุลาดำได้ถึงระดับโครโมโซม โดยเป็นทีมวิจัยทีมแรกที่ประสบความสำเร็จในการถอดรหัสพันธุกรรมของจีโนมกุ้งกุลาดำ ซึ่งมีความท้าทายเป็นอย่างมาก เนื่องจากกุ้งกุลาดำมีขนาดจีโนมใหญ่ มีจำนวนโครโมโซมจำนวนมาก ข้อมูลดังกล่าวถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งและอุตสาหกรรมอาหารสัตว์น้ำได้อย่างมากมาย ได้แก่ การสร้างองค์ความรู้พื้นฐานด้านวิวัฒนาการและจีโนมเชิงเปรียบเทียบ การค้นหาเครื่องหมายโมเลกุลแบบสนิปส์เพื่อบ่งชี้ลักษณะที่ต้องการในการปรับปรุงพันธุ์กุ้ง การใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานเพื่อช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลจากเทคโนโลยีโอมิกส์อื่นๆ และการศึกษาโภชนพันธุศาสตร์ นอกจากนี้ ทีมวิจัยได้มีความร่วมมือกับกรมประมงเพื่อนำความรู้ทางเทคนิคดังกล่าวมาใช้ในการถอดรหัสพันธุกรรมของจีโนมกุ้งก้ามกรามเพื่อใช้ในการปรับปรุงพันธุ์กุ้งก้ามกราม และคาดว่าจะขยายผลไปใช้ในการศึกษาพันธุกรรมกุ้งชนิดอื่นๆ ที่สำคัญของประเทศต่อไป
รางวัลผู้สมควรให้ปาฐกถาอายิโนะโมะโต๊ะ เป็นรางวัลที่มอบให้แก่นักวิจัยไทยที่มีผลงานวิจัยดีเด่นด้านเทคโนโลยีชีวภาพที่อยู่บนพื้นฐานของคุณภาพและศักยภาพอุตสาหกรรม สามารถนำไปปรับใช้หรือเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมและสังคมไทย โดยรวมอย่างชัดเจน ส่วนรางวัลทะกุจิ เป็นรางวัลที่มอบให้แก่นักวิทยาศาสตร์ที่มีผลงานวิจัยดีเด่น นักศึกษา ระดับบัณฑิตศึกษา ที่มีผลงานวิทยานิพนธ์ดีเด่น และภาคเอกชนที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนและพัฒนาเทคโนโลยีในด้านการศึกษา วิจัย และการประยุกต์ใช้วิทยาการในสาขาเทคโนโลยีชีวภาพ ทั้งที่เกี่ยวกับเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และสาธารณสุขภายในประเทศไทยทั้งที่เกี่ยวกับเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และสาธารณสุขภายในประเทศไทย