2 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ: สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ไปทรงเปิดงาน “วันนักประดิษฐ์” ประจำปี 2567 (Thailand Inventors’ Day 2024) พร้อมพระราชทานเกียรติบัตรให้แก่ผู้ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ
ในโอกาสนี้ ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมด้วย ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) และ ดร.เกื้อกูล ปิยะจอมขวัญ รองผู้อำนวยการไบโอเทค ตลอดจนคณะผู้บริหาร แสดงความยินดีกับนักวิจัยไบโอเทค ที่ได้รับรางวัลในสาขาต่าง ๆ รวม 11 รางวัล แบ่งออกเป็น 3 รายการ ดังนี้
รางวัลการวิจัยแห่งชาติ: ประเภทรางวัลผลงานวิจัย ประจำปีงบประมาณ 2567
รางวัลระดับดีมาก จำนวน 3 รางวัล ได้แก่
- ดร.วณิลดา รุ่งรัศมี และคณะ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ผลงานวิจัยเรื่อง “ปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มประชากรแบคทีเรียในลำไส้ต่อระบภูมิคุ้มกันในกุ้ง” รางวัลระดับดีมาก สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา
ดร. วณิลดา รุ่งรัศมี ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยเทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยและการค้นหาสารชีวภาพ ร่วมกับ ดร. พชรพร อ่างทอง นักวิจัย ทีมวิจัยไมโครอะเรย์แบบครบวงจร กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยและการค้นหาสารชีวภาพ ดร. เสจ ไชยเพ็ชร หัวหน้าทีมวิจัยและพัฒนาบริการด้านเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพสัตว์น้ำแบบบูรณาการ ดร. นิศรา การุณอุทัยศิริ นักวิจัยอาวุโส ดร. ธนพร อึ้งเวชวานิช ดร. อุมาพร เอื้อวิเศษวัฒนา นักวิจัย นางสาวโศภชา อารยเมธากร
ผู้ช่วยวิจัย นางสาวฑิมพิกา เทพสุวรรณ์ ผู้ช่วยปฏิบัติงานวิจัย ทีมวิจัยไมโครอะเรย์แบบครบวงจร กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยและการค้นหาสารชีวภาพ นางสาววราภรณ์ แจ้งสุทธิวรวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญเทคนิค นางสาวปัญญิศา โปติบุตร นายมงคล พันธุระ ผู้ช่วยวิจัย นายเมธาวี พรมสอน เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการอาวุโส นางสาวศิริพร ตาหล้า เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ
ทีมวิจัยและพัฒนาบริการด้านเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และนางจุฑาทิพย์ คูเดช เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการอาวุโส ทีมวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์กุ้ง กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพสัตว์น้ำแบบบูรณาการ ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ : รางวัลผลงานวิจัย ระดับดีมาก สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา ประจำปี 2567 จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จากผลงานวิจัยเรื่อง “ปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มประชากรแบคทีเรียในลำไส้ต่อระบบภูมิคุ้มกันในกุ้ง”
ผลงานวิจัยดังกล่าวแสดงให้เห็นข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับปฏิสัมพันธ์ระหว่างกุ้งกุลาดำกับจุลินทรีย์ในลำไส้ การศึกษาความหลากหลายประชากรแบคทีเรียในลำไส้ของกุ้งกุลาดำภายใต้ความแตกต่างของปัจจัยต่าง ๆ ด้วย multi-omics platform โดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Next-generation sequencing ร่วมกับ metabolomics โดยได้องค์ความรู้เกี่ยวกับกลุ่มประชากรแบคทีเรียและปฏิสัมพันธ์ระหว่างกุ้งและจุลินทรีย์ภายใต้ปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่ อายุ การเจริญเติบโต สภาวะติดเชื้อแบคทีเรียก่อโรค และสภาพแวดล้อมบ่อเลี้ยงในระดับความเค็มน้ำต่างกัน ทำให้เข้าใจถึงความเชื่อมโยงระหว่างจุลินทรีย์ในลำไส้และการเกิดกระบวนการทางชีววิทยาของกุ้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลไกของระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งสามารถนำไปใช้
ในการเลือกกลุ่มแบคทีเรียที่ช่วยเสริมสร้างสุขภาพของกุ้ง เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาสูตรอาหารที่สามารถเสริมสร้างสมดุลจุลินทรีย์ในลำไส้และส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกันให้กุ้งสามารถทนต่อสภาพแวดล้อมและโรคในระบบบ่อเลี้ยง หรือใช้เป็นเครื่องมือในการออกแบบการจัดการบ่อเลี้ยง เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งของประเทศให้ได้ผลผลิตที่ยั่งยืนในอนาคต
- ดร.สิทธิโชค ตั้งภัสสรเรือง และคณะ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ผลงานวิจัยเรื่อง “การวิเคราะห์จีโนม และพันธุศาสตร์ประชากรของพืชวงศ์โกงกาง อธิบายการเกิดขึ้นของสปีซีส์ และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรทางวิวัฒนาการได้” รางวัลระดับดีมาก สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา
ดร. สิทธิโชค ตั้งภัสสรเรือง นักวิจัยอาวุโส จากศูนย์โอมิกส์แห่งชาติ (NOC) ไบโอเทค สวทช. ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ : รางวัลผลงานวิจัย ระดับดีมาก สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา ประจำปี 2567 จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จากผลงานวิจัยเรื่อง “การวิเคราะห์จีโนม และพันธุศาสตร์ประชากรของพืชวงศ์โกงกาง อธิบายการเกิดขึ้นของสปีชีส์ และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรทางวิวัฒนาการได้”
โครงการวิจัยนี้เป็นความร่วมมือระหว่างคณะนักวิจัยจากศูนย์โอมิกส์แห่งชาติ ได้แก่ ดร. วิรัลดา ภูตะคาม ดร. เจเรอมี เชียร์แมน ดร. ปัณฑิตา เรืองอารีย์รัชต์ นางดวงใจ แสงสระคู นางสาวทิพวัลย์ อยู่ชา นายณัฐพล ณรงค์ นางสาวนุกูล จอมชัย นายชัยวัฒน์ นาคทั่ง นางสาวชุติมา สนธิรอต นางสาวโสณิชา อุทุมพร นางสาววาสิฎฐี คงคาชนะ นางสาวสุภาภรณ์ ขานโบ รวมทั้งคณะผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญด้านป้าไม้จากกรมทรัพยาการทางทะเลและชายฝั่ง ได้แก่ นายชาตรี มากนวล นางพูลศรี วันธงไชย นางดรุณี เจียมจำรัสศิลปะ นางประนอม ชุมเรียง นางสาววรัทยา พรมชู นายพศิน มาประสพ นายธมนัย ประวีณวงศ์วุฒิ นายนาวิน พรหมสิน
ป่าชายเลนเป็นระบบนิเวศที่สำคัญต่อเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อม มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากระบบนิเวศป่าไม้อื่นๆ พืชป่าชายเลนเป็นกลุ่มพืชที่มีการปรับตัวกับสิ่งแวดล้อมชายฝั่งทะเล โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลอดช่วงระยะเวลาที่มีเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเลหลายสิบเมตรในช่วงระยะเวลาล้านปีที่ผ่านมา และการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ชายฝั่งทะเลในช่วงศตวรรษที่ผ่านมาก็มีกิจกรรมของมนุษย์ที่มาทำให้สิ่งแวดล้อมชายฝั่งทะเลเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างมาก ทำให้การศึกษาพันธุศาสตร์ประชากรของพืชป่าชายเลนมีความจำเป็นในการเข้าใจการเปลี่ยนแปลงในระดับวิวัฒนาการของพืชป่าชายเลนเป็นอย่างยิ่ง
โครงการวิจัยนี้ได้สร้างฐานข้อมูลจีโนม และองค์ความรู้ด้านความหลากหลายทางพันธุกรรมของพรรณไม้ป่าชายเลนในประเทศไทย ในวงศ์โกงกาง จำนวน 10 ชนิด ได้แก่ Bruguiera cylindrica, Bruguiera gymnorrhiza, Bruguiera hainesii, Bruguiera parviflora, Bruguiera sexangula, Ceriops decandra, Ceriops tagal, Ceriops zippeliana, Rhizophora apiculata และ Rhizophora mucronata และแผนที่การกระจายตัวของพืชป่าชายเลนทั้ง 10 ชนิด
ฐานข้อมูลจีโนมพืชป่าชายเลนสามารถต่อยอดสู่การศึกษาเชิงวิวัฒนาการ การเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต การเกิดขึ้นของสปีชีส์ใหม่ เช่น พืชวงศ์โกงกางมีบรรพบุรุษร่วมกันเมื่อ ประมาณ 50 ล้านปีก่อน การเปรียบเทียบจีโนมของพืชวงศ์โกงกางยังทำให้ทราบยีนที่ถูกคัดเลือกไว้ทางวิวัฒนาการเพื่อประโยชน์ในการปรับตัวกับสิ่งแวดล้อมทนเค็มอีกด้วย และการวิเคราะห์จีโนมพืชสกุลไม้ถั่ว (Bruguiera) พบว่าพังกา-ถั่วขาว ทำให้ทราบการเกิดขึ้นของสปีชีส์นี้เมื่อ 3 ล้านปีก่อนจากการผสมข้าม Hybrid Speciation ของถั่วขาว และ พังกาหัวสุมดอกแดง โดยพืชทั้งสามชนิดยังอยู่ในพื้นที่ทับซ้อนกัน (Sympatric Speciation)
นอกจากนั้นการศึกษาโครงสร้างประชากรทางพันธุศาสตร์แสดงถึงความหลากหลายทางธรรมชาติของพืชแต่ละชนิด สามารถบ่งชี้การแบ่งแยกโครงสร้างประชากรย่อยในพื้นที่ฝั่งอันดามัน และพื้นที่ฝั่งอ่าวไทย ที่มีแนวเทือกเขาตะนาวศรี/ภูเก็ต และเทือกเขานครศรีธรรมราช เป็นแนวกั้นขวางตามธรรมชาติ โดยพืชวงศ์โกงกางมีขนาดของดอกเป็นปัจจัยสำคัญในการกระจายเกสรตัวผู้ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักในการแบ่งแยกประชากรย่อยจากแนวกั้นธรรมชาติจนเกิดเป็นสปีชีส์ใหม่ได้ในอีกรูปแบบโมเดลหนึ่ง ที่เรียกว่า Allopatric Speciation (ซึ่งแตกต่างจากการเกิดขึ้นของพังกา-ถั่วขาว ที่เป็นโมเดล Sympatric Speication) ผลงานวิจัยในโครงการนี้ได้นำเสนอหลักฐานทางวิทยาศาสตร์การกระจายตัว และโครงสร้างพันธุศาสตร์ประชากรของพันธุ์ไม้สกุลโปรง โดยเฉพาะโปรงขาว และโปรงแดง ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันทางวิวัฒนาการมาก แต่มีโครงสร้างประชากรที่แบ่งแยกชัดเจน สอดคล้องกับทฤษฎีทางวิวัฒนาการในการเกิดขึ้นของสปีชีส์แบบ Allopatric Speciation ได้เป็นอย่างดี ในขณะที่โกงกางใบใหญ่เป็นพันธุ์ไม้ที่ไม่มีการแบ่งแยกประชากรย่อย เนื่องจากการส่งเสริมการปลูกป่าชายเลนทดแทนที่ทำอย่างต่อเนื่องใน 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยใช้พันธุ์ไม้โกงกางใบใหญ่ เป็นพันธุ์ไม้หลักในการปลูกป่าทดแทนทั้งพื้นที่ชายฝั่งอันดามันและอ่าวไทย ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนฐานพันธุกรรมกันอย่างต่อเนื่องจากกิจกรรมของมนุษย์
ข้อมูลจากฐานข้อมูลจีโนม การเปรียบเทียบจีโนมระหว่างชนิดพืชต่างๆ มีประโยชน์ในเชิงวิชาการ ทำให้ทราบถึงการเกิดขึ้นของสปีชีส์ การคัดเลือกยีนโดยธรรมชาติในเชิงวิวัฒนาการ กลไกการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมชายเลนที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอยู่เสมอ
- ดร.วีระวัฒน์ แช่มปรีดา และคณะ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ผลงานวิจัยเรื่อง “การคัดเลือกและค้นหาเอนไซม์ที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์จากแหล่งจุลินทรีย์ในประเทศไทย: จากความหลายทางชีวภาพสู่ต้นแบบเพื่ออุตสาหกรรม” รางวัลระดับดีมาก สาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย
ดร. วีระวัฒน์ แช่มปรีดา ผู้อำนวยการ กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีไบโอรีไฟเนอรีและชีวภัณฑ์ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ศช.) ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ : รางวัลผลงานวิจัย ระดับดีมาก สาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย ประจำปีงบประมาณ 2567 จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จากผลงานวิจัยเรื่อง “การคัดเลือกและค้นหาเอนไซม์ที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์จากแหล่งจุลินทรีย์ในประเทศไทย: จากความหลากหลายทางชีวภาพสู่ต้นแบบเพื่ออุตสาหกรรม (High-throughput screening and identification of commercially-potent enzymes from Thai microbial bioresources: from diversity to prototype candidates)” โดยมีคณะผู้ร่วมวิจัยประกอบด้วย ดร. เบญจรัตน์ บรรเทิงสุข ดร. ภรรทนพ กนกรัตนา นายวุฒิชัย เหมือนทอง นางสาวเกตุวดี บุญญาภากร นางสาวเกดสุดา เอี้ยววิริยะสกุล นางสาววิภาวี ศรีทัศนีย์ ดร. ณัฐพล อรุณรัตนมุขย์ ดร. ธนพร เล้าฐานะเจริญ นายศรัณยู วงษ์วิไลวารินทร์ ดร. พรกมล อุ่นเรือน ดร. ศรีวรรณ วงศ์วิศาลศรี ดร. ธิดารัตน์ นิ่มเชื้อ ดร. ดุริยะ จันทสิงห์ ดร. ศรีสกุล ตระการไพบูลย์ กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีไบโอรีไฟเนอรีและชีวภัณฑ์ ดร. สุภาวดี อิงศรีสว่าง ดร. ศศิธร จินดามรกฎ นางสาวสุภัทรา กิติคุณ นางสาวมินตรา สีสังข์ ศูนย์ชีววัสดุประเทศไทย ดร.ลิลี่ เอื้อวิไลจิตร ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.หทัยกาญจน์ เลกากาญจน์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผลงานวิจัยดังกล่าวเป็นการสร้างแพลตฟอร์มและเทคโนโลยีสำหรับคัดกรองจุลินทรีย์ และเอนไซม์แบบประสิทธิภาพสูงด้วยระบบอัตโนมัติ (high throughput screening platform, HTP) ที่มีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพในการค้นหาเอนไซม์หรือจุลินทรีย์ที่มีความสามารถในการผลิตสารผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่มีศักยภาพทางอุตสาหกรรม จากจุลินทรีย์ที่เพาะเลี้ยงได้ในห้องปฏิบัติการ (cultured microorganism) จากคลังจุลินทรีย์ของศูนย์ชีววัสดุประเทศไทย มากกว่า 1,000 สายพันธุ์ และจากจุลินทรีย์ที่เพาะเลี้ยงไม่ได้ในห้องปฏิบัติการ (uncultured microorganism) จากสิ่งแวดล้อมต่างๆ ในประเทศไทย (โรงบำบัดน้ำเสียและน้ำพุร้อน) ด้วยเทคนิคเมตาจีโนมิกส์ โดยค้นพบจุลินทรีย์ที่มีความสามารถในการผลิตเอนไซม์ในกลุ่มย่อย หรือปรับโครงสร้างชีวมวลพืช เอนไซม์ย่อยสลายพลาสติกชีวภาพ และสารประกอบไฮโดรคาร์บอน เอนไซม์กลุ่มที่ใช้สังเคราะห์น้ำตาลที่มีคุณสมบัติเชิงหน้าที่ และจุลินทรีย์ที่สามารถผลิตพลาสติกชีวภาพ และสารลดแรงตึงผิว จากผลการศึกษาสามารถพัฒนาเอนไซม์และจุลินทรีย์รวม 11 ชนิด สำหรับการประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมเป้าหมายทั้งในรูปแบบของเอนไซม์ที่ผลิตในธรรมชาติ (crude enzyme) รีคอมบิแนนท์ (recombinant) หรือเซลล์จุลินทรีย์ (whole cell biocatalyst) ซึ่งผลงานวิจัยดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของทรัพยากรจุลินทรีย์ในประเทศไทยที่เป็นแหล่งของเอนไซม์และจุลินทรีย์ที่มีศักยภาพในการพัฒนาต่อยอดเพื่อประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมและเป็นรากฐานในการสร้างความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมชีวภาพในประเทศไทย นอกจากนี้ คณะผู้วิจัยได้รวบรวมข้อมูลจากการคัดกรองเอนไซม์ ไว้ในฐานข้อมูลของศูนย์ชีววัสดุประเทศไทย และจัดทำฐานข้อมูล metagenomics library จากสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างฐานข้อมูลสำหรับเอนไซม์ที่เกี่ยวกับการย่อยและแปรรูปคาร์โบไฮเดรตที่มีคุณสมบัติทนความร้อนที่มีศักยภาพสำหรับการประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรม
รางวัลระดับดี จำนวน 4 รางวัล ได้แก่
- ดร.ปิติ อ่ำพายัพ และคณะ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ผลงานวิจัยเรื่อง “การพัฒนาอาหารสัตว์น้ำเสริมสุขภาพเพื่อการเพาะเลี้ยงปลาสวยงามเชิงพาณิชย์แบบยั่งยืนด้วยการประยุกต์ใช้ทคโนโลยีชีวภาพพรีไบโอติก-โปรไบโอติก และการใช้ประโยชน์จากโคพีพอดของไทย” รางวัลระดับดี สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา
ดร. ปิติ อ่ำพายัพ หัวหน้าทีมวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพทางทะเล กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพสัตว์น้ำแบบบูรณาการ และ ดร. วลัยพร เจริญทรัพย์ศรี นักวิจัย ทีมวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพทางทะเล ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ : รางวัลผลงานวิจัย ระดับดี สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา ประจำปี 2567 จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จากผลงานวิจัยเรื่อง “การพัฒนาอาหารสัตว์น้ำเสริมสุขภาพเพื่อการเพาะเลี้ยงปลาสวยงามเชิงพาณิชย์แบบยั่งยืนด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี-ชีวภาพพรีไบโอติก-โปรไบโอติก และการใช้ประโยชน์จากโคพีพอดของไทย” ร่วมกับ รศ.ดร. จันทร์ประภา อิ่มจงใจรัก คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผลงานวิจัยดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงการประยุกต์ใช้พรีไบโอติกร่วมกับโปรไบโอติกแลกติกแอซิดแบคทีเรีย เพื่อต่อยอดเป็นอาหารเสริมสุขภาพ เพิ่มระบบภูมิคุ้มกันและต้านเชื้อก่อโรคในระบบการเพาะเลี้ยงปลากัดไทย และการพัฒนาโคพีพอดให้มีอัตราส่วนของกรดไขมันจำเป็น DHA/EPA ที่เหมาะสมและมีคุณค่าทางโภชนาการสูง เพื่อเป็นอาหารเสริมสุขภาพของลูกปลากัดแรกเกิด ตลอดจนข้อมูลทรานสคริปโตมของยีนทั้งหมดในปลากัดไทย เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลรองรับการพัฒนาการเพาะเลี้ยงปลากัด โดยประสบความสำเร็จในการพัฒนาต้นแบบเชิงชีวภาพโปรไบโอติกแลกติกแอซิดแบคทีเรียที่เสริมด้วยพรีไบโอติกที่มีประสิทธิภาพส่งเสริมสุขภาพ กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน และเพิ่มความต้านทานต่อเชื้อก่อโรค Aeromonas hydrophila ในระบบการเพาะเลี้ยงปลากัดสวยงาม และคู่มือองค์ความรู้การพัฒนาพรีไบโอติกเพื่อเพิ่มศักยภาพของโปรไบโอติกแลกติกแอซิดแบคทีเรียในการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน และเพิ่มการต้านทานโรคในการเพาะเลี้ยงปลากัดสวยงาม รวมทั้งประสบความสำเร็จในการพัฒนาต้นแบบเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงปลากัดสวยงามด้วยการประยุกต์ใช้โคพีพอดที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงส่งเสริมสุขภาพของลูกปลากัดแรกฟัก คู่มือองค์ความรู้การประยุกต์ใช้โคพีพอดเพื่อเป็นอาหารมีชีวิตในการเพาะเลี้ยงปลากัดสวยงาม ต้นแบบโคพีพอดอาหารมีชีวิตบรรจุขวดส่งเสริมสุขภาพของลูกปลากัดแรกฟัก และต้นแบบโคพีพอดเข้มข้นบรรจุขวดที่มีกรดไขมันจำเป็น DHA/EPA สูง เหมาะสมกับความต้องการของสัตว์น้ำที่พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีไปสู่เกษตรกร
- ดร.พีร์ จารุอำพรพรรณ และคณะ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ผลงานวิจัยเรื่อง “การศึกษาบทบาทของโปรตีนนิวคลิโอแคปสิดที่สำคัญต่อการเพิ่มจำนวนของไวรัสโคโรนา ” รางวัลระดับดี สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา
ดร. พีร์ จารุอำพรพรรณ หัวหน้าทีมวิจัยไวรัสวิทยาและเซลล์เทคโนโลยี กลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ดร. อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยฯ ดร. สุทธิพันธุ์ สังข์สุวรรณ นักวิจัย นางสาวจรัสพิมพ์ นาคพุก นายอัศวิน วานิชชัง นายจักราการ เจนการ ผู้ช่วยวิจัยอาวุโส และนางสาวเบญจมาศ ชุติวิทูรชัย ผู้ช่วยวิจัย ทีมวิจัยไวรัสวิทยาและเซลล์เทคโนโลยี กลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ร่วมกับ นายวุฒิชัย เหมือนทอง นักวิจัย ทีมวิจัยเทคโนโลยีเอนไซม์ กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีไบโอรีไฟเนอรีและชีวภัณฑ์ ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ : รางวัลผลงานวิจัย ระดับดี สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา ประจำปี 2567 จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จากผลงานวิจัยเรื่อง “การศึกษาบทบาทของโปรตีนนิวคลีโอแคปสิดที่สำคัญต่อการเพิ่มจำนวนของไวรัสโคโรนา”
ผลงานวิจัยดังกล่าวแสดงให้เห็นข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับคุณสมบัติและกลไกที่เกี่ยวข้องกับโปรตีนนิวคลีโอแคปสิดที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของไวรัสโคโรนาในเซลล์เจ้าบ้าน โดยใช้ระบบไวรัสโคโรนาสุกรที่ก่อโรคท้องร่วงรุนแรง (Porcine epidemic diarrhea virus, PEDV) เป็นโมเดลในการศึกษา เพื่อสร้างองค์ความรู้พื้นฐานที่สำคัญพร้อมไปกับการสร้างแพลตฟอร์มเพื่อรองรับการผลิตอนุภาคไวรัส PEDV อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อพัฒนาเป็นวัคซีนชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ โดยได้องค์ความรู้เกี่ยวกับหน้าที่ของโปรตีนนิวคลีโอแคปสิดของไวรัส PEDV ที่ส่งผลต่อการเพิ่มจำนวนของไวรัส PEDV ในเซลล์เพาะเลี้ยง ความแตกต่างของโปรตีนนิวคลีโอแคปสิดของไวรัส PEDV ระหว่างสายพันธุ์ที่สามารถเจริญในจานเพาะเลี้ยงได้ดี (cell-adapted) และสายพันธุ์ที่แยกได้จากฟาร์มที่ยังไม่มีการปรับตัว (field-isolated) คุณสมบัติเฉพาะของโปรตีนนิวคลีโอแคปสิดจากสายพันธุ์ที่สามารถเจริญได้ดีในจานเพาะเลี้ยง ปฏิสัมพันธ์ของโปรตีนนิวคลีโอแคปสิดจากไวรัสโคโรนาที่ติดเชื้อในเซลล์ลำไส้สุกรชนิดต่างๆ ต่อการเจริญเติบโตของไวรัสพีอีดีในภาวะที่อาจมีการติดเชื้อร่วมกัน (co-infection) และกลไกของระบบภูมิคุ้มกันของเซลล์เจ้าบ้านที่สามารถต่อต้านไวรัสโคโรนาและบทบาทใหม่ของโปรตีนนิวคลีโอแคปสิดของไวรัสโคโรนาที่ยับยั้งกลไกระบบภูมิคุ้มกันของเซลล์เจ้าบ้านดังกล่าว รวมทั้งศักยภาพของเซลล์ไลน์ที่มีการวิศวกรรมให้แสดงออกโปรตีนนิวคลีโอแคปสิดเพิ่มเติมเพื่อเป็นแพลตฟอร์มที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นสำหรับผลิตอนุภาคไวรัสเพื่อใช้เป็นวัคซีน ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดในการพัฒนาเครื่องมือต่างๆ สำหรับควบคุมและป้องกันการระบาดของไวรัสโคโรนาในสุกร ตลอดจนการประยุกต์ใช้องค์ความรู้และเครื่องมือดังกล่าวในการจัดการกับไวรัสโคโรนาที่ติดเชื้อและก่อโรคในมนุษย์ได้ เช่น การสร้างไวรัสโคโรนาลูกผสมที่มีเจริญเติบโตได้ดีในเซลล์เพาะเลี้ยงด้วยวิธี reverse genetics สำหรับใช้เป็นต้นแบบวัคซีนชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ และการพัฒนาเทคโนโลยีฐาน (technology platform) ที่เหมาะสมสำหรับการผลิตอนุภาคไวรัส PEDV ให้ได้ในปริมาณสูงสำหรับใช้เป็นวัคซีน เป็นต้น
- ผลงานวิจัยร่วม โดย ศ.นพ. ภาสกร ศรีทิพย์สุโข และคณะ จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมด้วย ดร.พีร์ จารุอำพรพรรณ และคณะ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ผลงานวิจัยเรื่อง “ประสิทธิผลของวัคซีนโควิด 19 ในประเทศไทย: การศึกษาในสถานการณ์จริง (ปีที่ 1)” รางวัลระดับดี สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์
ดร. พีร์ จารุอำพรพรรณ หัวหน้าทีมวิจัยไวรัสวิทยาและเซลล์เทคโนโลยี กลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ นำโดย ศ.นพ. ภาสกร ศรีทิพย์สุโข ศ.นพ. ธนา ขอเจริญพร รศ.พญ. อารยา ศรัทธาพุทธ ผศ.ดร.นพ. พิชญ ตันติยวรงค์ ผศ.นพ. บุญยิ่ง ศิริบำรุงวงศ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ : รางวัลผลงานวิจัย ระดับดี สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ประจำปี 2567 จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จากผลงานวิจัยเรื่อง “ประสิทธิผลของวัคซีนโควิด 19 ในประเทศไทย: การศึกษาในสถานการณ์จริง (ปีที่ 1)”
ผลงานวิจัยดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงการนำผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่ ศช. โดยทีมวิจัยไวรัสวิทยาและเซลล์เทคโนโลยี กลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ร่วมกับ ทีมวิจัยการผลิตโมโนโคลนอลแอนติบอดีและการประยุกต์ใช้พัฒนาขึ้นไปใช้ประโยชน์ต่อยอดในการรับมือกับสถานการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งโรคระบาดที่เป็นปัญหาสำคัญของประเทศที่ต้องเร่งแก้ไขและสร้างมาตรการควบคุม โดยอาศัยชุดตรวจแอนติบอดีที่มีความจำเพาะกับโปรตีนส่วน spike receptor binding domain (S-RBD) ของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ชุดตรวจ “COVYD-19 Ab test kit (ELISA)”) ที่มีความจำเพาะเจาะจงในการวินิจฉัยสูง มีค่าความไว (sensitivity) ร้อยละ 94.6 และความจำเพาะเจาะจง (specificity) ร้อยละ 95.8 เมื่อเปรียบเทียบกับชุดตรวจที่น่าเชื่อถือในท้องตลาด และวิธีการตรวจแอนติบอดีลบล้างฤทธิ์ต่อไวรัสโคโรนา 2019 ด้วยวิธี surrogate virus neutralization test ที่ไม่ต้องใช้ไวรัสจริง มีความปลอดภัย ไม่ต้องใช้ห้องปฏิบัติการชีวนิรภัยระดับ 3 และสามารถตรวจได้หลายตัวอย่างในคราวเดียวกัน ซึ่งทีมนักวิจัยของ ศช. ได้พัฒนาขึ้น และถูกนำไปต่อยอดใช้ประโยชน์ในการศึกษาประสิทธิผลทางคลินิกของวัคซีนโควิด-19 ในสถานการณ์จริงในจังหวัดกรุงเทพมหานครตอนเหนือ และจังหวัดปทุมธานี และการศึกษาระดับภูมิคุ้มกันโรคหลังจากติดเชื้อโควิด-19 ในผู้มีประวัติได้รับวัคซีนที่แตกต่างกัน ซึ่งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้รับทุนอุดหนุนวิจัยจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) โดยพบว่าการได้รับวัคซีนเชื้อตายเพียง 1 เข็มไม่สามารถป้องกันโรคได้เพียงพอ (ให้ประสิทธิผลต่ำกว่า 50%) การได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนเชื้อตายหรือวัคซีนไวรัลเวคเตอร์สามารถให้ประสิทธิผลของวัคซีนสูงกว่า 50% และการได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น (เข็มที่ 3) สามารถเพิ่มประสิทธิผลของวัคซีนสูงกว่า 79% นำไปสู่แนวทางในการพิจารณาความจำเป็นของวัคซีนเข็มกระตุ้น และข้อมูลดังกล่าวถูกเผยแพร่ไปอย่างกว้างขวางในรูปแบบของการรายงานข่าว อาทิ รายการเรื่องเล่าเช้านี้ และการตีพิมพ์ในสื่อสิ่งพิมพ์หลายฉบับ เช่น มติชน ไทยรัฐ Thai PBS และเดลินิวส์ เป็นต้น
- ดร.มาริษา ไร่ทะ และคณะ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ผลงานวิจัยเรื่อง “การพัฒนาต้นแบบเทคโนโลยีการทำบริสุทธิ์น้ำตาลไชโลโอลิโกแซกคาไรด์จากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรจากอ้อย” รางวัลระดับดี สาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย
ดร.มาริษา ไร่ทะ นักวิจัย ทีมวิจัยเทคโนโลยีเอนไซม์ กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีไบโอรีไฟเนอรีและชีวภัณฑ์ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ศช.) ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ : รางวัลผลงานวิจัย ระดับดี สาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย ประจำปีงบประมาณ 2567 จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จากผลงานวิจัยเรื่อง “การพัฒนาต้นแบบเทคโนโลยีการทำบริสุทธิ์น้ำตาลไซโลโอลิโกแซกคาไรด์จากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรจากอ้อย (Development in purification process of xylooligosaccharide from sugarcane waste)” โดยมีคณะผู้ร่วมวิจัยประกอบด้วย ดร.วีระวัฒน์ แช่มปรีดา ดร.ชญานนท์ โชติรสสุคนธ์ นางสาวธัญชนก ปรีชากุล กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีไบโอรีไฟเนอรีและชีวภัณฑ์ ดร.อัจฉรา แพมณี ศูนย์โอมิกส์แห่งชาติ ศาสตราจารย์ ดร.นวดล เหล่าศิริพจน์ นายสุชาติ พงษ์ชัยผล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สันติ เชื้อเต๊อะ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และ ดร. นพรัตน์ สุริยะไชย มหาวิทยาลัยพะเยา
ผลงานวิจัยดังกล่าวเป็นการพัฒนาต้นแบบกระบวนการทำบริสุทธิ์น้ำตาลไซโลโอลิโกแซกคาไรด์จากเฮมิเซลลูโลสของใบอ้อยด้วยกระบวนการไฮโดรเทอร์มอล โดยสามารถพัฒนาต้นแบบกระบวนการทำบริสุทธิ์น้ำตาลไซโลโอลิโกแซกคาไรด์ด้วยกระบวนการไฮโดรเทอร์มอลโดยใช้กระบวนการกำจัดสิ่งเจือปนและทำบริสุทธิ์ร่วมกันในระดับห้องปฏิบัติการและระดับขยายขนาด น้ำตาลไซโลโอลิโกแซกคาไรด์ที่ได้มีความบริสุทธิ์สูง (มากกว่า 90%) และมีคุณสมบัติเทียบเท่าน้ำตาลทางการค้าที่สามารถนำไปใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่ม อาทิ พรีไบโอติก วัสดุผสมทางชีวภาพสำหรับอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ ไฮโดรเจลและสารเคมี (เอทานอล กรดแลคติก เฟอร์ฟูรอล และไซลิทอล) ซึ่งเทคโนโลยีที่ได้เป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับการขยายกระบวนการในระดับนำร่อง ตลอดจนนำไปสู่การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรีในประเทศไทย นอกจากนี้ช่วยลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์น้ำตาลไซโลโอลิโกแซกคาไรด์และลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ
รางวัลการวิจัยแห่งชาติ : ประเภทรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปีงบประมาณ 2567
รางวัลระดับดีมาก จำนวน 1 รางวัล ได้แก่
- ดร.อรประไพ คชนันทน์ และคณะ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ผลงานวิจัยเรื่อง “ชุดตรวจวินิจฉัยโรคใบด่างมันสำปะหลังและการประยุกต์ใช้เพื่อเฝ้าระวังและจัดการควบคุมโรคอย่างเป็นรูปธรรม” รางวัลระดับดีมาก สายาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา
ดร. อรประไพ คชนันทน์ นักวิจัยอาวุโส ทีมวิจัยการผลิตโมโนโคลนอลแอนติบอดีและการประยุกต์ใช้ กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยและการค้นหาสารชีวภาพ ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ : รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับดีมาก สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา ประจำปีงบประมาณ 2567 จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จากผลงานวิจัยเรื่อง “ชุดตรวจวินิจฉัยโรคใบด่างมันสำปะหลังและการประยุกต์ใช้เพื่อเฝ้าระวังและจัดการควบคุมโรคอย่างเป็นรูปธรรม (Cassava mosaic disease diagnostic kits and their application for practical disease control and management)” โดยผลงานประดิษฐ์คิดค้นนี้เป็นผลงานของคณะผู้วิจัย สวทช. ประกอบด้วย ดร. อรประไพ คชนันทน์ ดร. ชาญณรงค์ ศรีภิบาล ดร. แสงสูรย์ เจริญวิไลศิริ นายสมบัติ รักประทานพร นางสาวมัลลิกา กำภูศิริ นางสาวกัณวัฒน์ ด่านวิเศษกาญจน นางสาวผกามาศ ชิดเชื้อ นางสาวสิริมา ศิริไพฑูรย์ และนางสาวกีรณา อยู่หัตถ์ ทีมวิจัยการผลิตโมโนโคลนอลแอนติบอดีและการประยุกต์ใช้ กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยและการค้นหาสารชีวภาพ นางนุชนาถ วารินทร์ นางสาวน้ำทิพย์ พิรณฤทธิ์ และนางสาวเบญจรงค์ พวงรัตน์ ทีมวิจัยไวรัสพืชและแบคทีรีโอฟาจ กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพพืชและการจัดการแบบบูรณาการ นางสาวกุหลาบ สุตะภักดี และนางสาวสุทธิสา ดัชนีย์ ฝ่ายบริหารวิจัยเพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติ สวทช.
คณะผู้ประดิษฐ์ได้พัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยโรคใบด่างมันสำปะหลังด้วยเทคนิคทางอิมมูโนวิทยา 2 รูปแบบ ได้แก่
- ชุดตรวจรูปแบบ ELISA ที่ตอบโจทย์การใช้งานแบบสามารถตรวจได้หลายตัวอย่างพร้อมกัน (high-throughput detection; 96 ตัวอย่างพร้อมกันใน 1 ถาดหลุม และทำได้หลายถาดต่อวัน) โดยแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ชุดตรวจ SLCMV-ELISA kit ที่สามารถตรวจเชื้อไวรัสใบด่างมันสำปะหลังชนิด Sri Lankan cassava mosaic virus (SLCMV) ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคใบด่างมันสำปะหลังในประเทศไทยได้อย่างจำเพาะเจาะจง มีความไวในการตรวจเชื้อไวรัส SLCMV สูงกว่าชุดตรวจ ELISA เชิงการค้า 64 เท่า มีประสิทธิภาพในการตรวจเชื้อไวรัส SLCMV จากตัวอย่างมันสำปะหลังที่เก็บจากแปลงปลูก เมื่อเทียบกับวิธีมาตรฐาน PCR (Dutt et al., 2005) กล่าวคือ มีค่าความไวสัมพัทธ์ 92% ค่าความจำเพาะเจาะจงสัมพัทธ์ 100% และค่าความแม่นยำสัมพัทธ์ 96% (n=326) และชุดตรวจ Broad-CMV-ELISA-kit ที่สามารถตรวจหาเชื้อไวรัสใบด่างมันสำปะหลังได้ 3 ชนิด ได้แก่ เชื้อ SLCMV เชื้อ African cassava mosaic virus (ACMV) ซึ่งพบแพร่ระบาดในทวีปแอฟริกา และเชื้อ Indian cassava mosaic virus (ICMV) ซึ่งพบแพร่ระบาดในประเทศอินเดีย โดยชุดตรวจนี้มีความไวในการตรวจสูงกว่าชุดตรวจ ELISA เชิงการค้า 16 เท่า มีประสิทธิภาพในการตรวจเชื้อไวรัส SLCMV จากตัวอย่างมันสำปะหลังที่เก็บจากแปลงปลูกเมื่อเทียบกับวิธีมาตรฐาน PCR (Dutt et al., 2005) กล่าวคือ มีค่าความไวสัมพัทธ์ 90% ค่าความจำเพาะเจาะจงสัมพัทธ์ 100% และค่าความแม่นยำสัมพัทธ์ 94% (n=301) ชุดตรวจรูปแบบ ELISA ที่พัฒนาขึ้นทั้ง 2 ประเภท มีราคาถูกกว่าชุดตรวจรูปแบบ ELISA เชิงการค้า ประมาณ 3 เท่า และถูกกว่าวิธี PCR ประมาณ 20 เท่า (ชุดตรวจ ELISA ที่พัฒนาขึ้น = 12 บาท/test; Commercial ELISA = 40 บาท/test; PCR = 250 บาท/test) ทั้งนี้ การตรวจในรูปแบบ ELISA จะใช้ระยะเวลาประมาณ 1-2 วัน โดยต้องทำในห้องปฏิบัติการ และอาศัยเครื่องอ่านผลการทดสอบ (คณะผู้ประดิษฐ์มีความร่วมมือกับกลุ่มวิจัยอุปกรณ์สเปกโทรสโกปีและเซนเซอร์ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สวทช. ในการพัฒนาเครื่อง WellScan สำหรับอ่านผลการทดสอบ ELISA)
- ชุดตรวจในรูปแบบ strip test (Rapid SLCMV-ICG strip test) พัฒนาขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก ตอบโจทย์ การใช้งานแบบ on-site detection สามารถตรวจหาเชื้อไวรัส SLCMV ได้อย่างจำเพาะเจาะจง ใช้งานได้ง่าย สะดวก สามารถพกพาไปตรวจในแปลงปลูก รู้ผลรวดเร็วภายใน 15 นาที และสามารถตรวจผลได้เองโดยไม่ต้องอาศัยผู้ชำนาญการและเครื่องมืออ่านผล ชุดตรวจ Rapid SLCMV-ICG strip test มีประสิทธิภาพในการตรวจเชื้อไวรัส SLCMV จากตัวอย่างมันสำปะหลังที่เก็บจากแปลงปลูก เมื่อเทียบกับวิธีมาตรฐาน PCR (Dutt et al., 2005) กล่าวคือ มีค่าความไวสัมพัทธ์ 91% ค่าความจำเพาะเจาะจงสัมพัทธ์ 100% และค่าความแม่นยำสัมพัทธ์ 96% (n=326) ที่มีราคาถูกกว่าวิธี PCR ประมาณ 2.5 เท่า (Rapid SLCMV-ICG strip test = 100 บาท/test; PCR = 250 บาท/test)
ผลงานวิจัยนี้ได้ยื่นจดสิทธิบัตร จำนวน 2 เรื่อง (เลขที่คำขอ 2001000526 และ 2101005890) และอนุสิทธิบัตร จำนวน 1 เรื่อง (เลขที่คำขอ 2303000845) และตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ จำนวน 1 เรื่อง [Virology Journal. (2021), 18(1):1-14]
รูปภาพแสดงชุดตรวจเชื้อไวรัสใบด่างมันสำปะหลังในรูปแบบ ELISA (ซ้าย) และรูปแบบ Rapid SLCMV-ICG Strip test (ขวา)
เนื่องจากมีรายงานการแพร่กระจายของโรคใบด่างมันสำปะหลังในพื้นที่ 27 จังหวัด ครอบคลุมเกือบทุกภาคของประเทศไทย คิดเป็นพื้นที่เสียหายกว่า 281,274 ไร่ (ข้อมูล ณ เดือนมกราคม 2564) ความสูญเสียของผลผลิตมันสำปะหลังก่อให้เกิดผลกระทบต่อเกษตรกร อุตสาหกรรมมันสำปะหลัง เศรษฐกิจและรายได้รวมของประเทศ ดังนั้น ความสามารถในการตรวจคัดกรองโรคใบด่างมันสำปะหลัง จึงมีความสำคัญที่จะช่วยลดความเสี่ยงในการนำท่อนพันธุ์ติดเชื้อไปปลูกต่อและช่วยชะลอการแพร่กระจายของโรค โดยการตรวจวินิจฉัยสามารถใช้ได้ทุกขั้นตอนของการผลิตและการเพาะปลูกมันสำปะหลัง ตั้งแต่ใช้ตรวจคัดกรองโรคในแปลงผลิตต้นพันธุ์ เพื่อประเมินการแพร่ระบาดของโรคในแปลงปลูกก่อนการเก็บเกี่ยวต้นพันธุ์ ใช้ตรวจ คัดกรองโรคในส่วนขยายต้นพันธุ์ด้วยวิธี mini-stem cutting หรือ tissue culture เพื่อตรวจสอบยืนยันความปลอดโรคของ ต้นพันธุ์ และใช้ติดตามเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคหลังการเพาะปลูก เพื่อจัดการและควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที นอกจากนี้ยังสามารถใช้ชุดตรวจฯ ในการศึกษาวิจัย ได้แก่ การผลิตพันธุ์พืชต้านทาน/ทนทานเชื้อไวรัส การศึกษาขอบเขตพืชอาศัยของเชื้อไวรัส และการพัฒนาวิธีการควบคุมศัตรูพืช เป็นต้น
การดำเนินงานของ สวทช. ด้านชุดตรวจวินิจฉัยโรคใบด่างมันสำปะหลังก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง และการพัฒนาประเทศ ดังนี้ 1) การจัดตั้งห้องปฏิบัติการตรวจโรคด้วยเทคนิค ELISA เพื่อเป็นศูนย์กลางการตรวจวินิจฉัยโรคใบด่างมันสำปะหลังในแต่ละภูมิภาค จำนวน 6 แห่ง (โรงแป้งมันสำปะหลัง บริษัทเอกชน และหน่วยงานภาครัฐภายในประเทศ) 2) การส่งเสริมการผลิตต้นพันธุ์สะอาดหรือต้นพันธุ์ปลอดโรคที่มีคุณภาพ ก่อนการส่งมอบให้เกษตรกรในช่วงฤดูกาลเพาะปลูก 3) การใช้ชุดตรวจแบบรวดเร็ว Rapid SLCMV-ICG strip test เพื่อตรวจคัดกรองและเฝ้าระวัง การแพร่ระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังด้วยตนเองในระดับภาคสนาม ที่ผ่านมาชุดตรวจ Rapid SLCMV-ICG strip test ได้ถูกนำไปเผยแพร่เชิงสาธารณประโยชน์ในวงกว้าง โดยได้จัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการและส่งมอบชุดตรวจฯ ให้แก่หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อนำไปทดสอบประสิทธิภาพการใช้งานในระดับภาคสนาม ซึ่งปัจจุบันได้เริ่มดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีชุดตรวจฯ ให้เกษตรกรผู้ผลิตมันสำปะหลังในจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดยโสธร จำนวน 100 ราย (ดำเนินการภายใต้โครงการเรื่อง “การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตมันสำปะหลังในระบบอินทรีย์ด้วยกลไกตลาดนำการผลิต” ของสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร สวทช.) เพื่อให้เกษตรกรสามารถผลิตต้นพันธุ์มันสำปะหลังที่มีคุณภาพ ปลอดการติดเชื้อไวรัส ใบด่างมันสำปะหลัง ทำให้สามารถสร้างเครือข่ายศูนย์การเรียนรู้ในชุมชน สร้างความมั่นคงให้กับเกษตรกร รวมทั้งสามารถขยายผล ไปยังเครือข่ายเกษตรกรอื่นในอนาคต นอกจากนี้ได้ดำเนินการเชิงพาณิชย์กับชุดตรวจฯ ให้แก่ผู้ที่สนใจทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนแล้ว
รางวัลประกาศเกียรติคุณ จำนวน 2 รางวัล ได้แก่
- นายวันเสด็จ เจริญรัมย์ และคณะ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ผลงานเรื่อง “สวัสดีแอมป์-พลัส: ชุดตรวจเชิงสีชนิดใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์ เพื่อเป็นต้นแบบชุดตรวจแห่งอนาคตสำหรับรับมือกับโรคอุบัติใหม่อย่างครอบคลุม” รางวัลประกาศเกียรติคุณ สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช
นายวันเสด็จ เจริญรัมย์ นักวิจัย ทีมวิจัยเทคโนโลยีวิศวกรรมชีวภาพและการตรวจวัด กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยและการค้นหาสารชีวภาพ ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ : รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับประกาศเกียรติคุณ สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช ประจำปีงบประมาณ 2567 จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จากผลงานวิจัยเรื่อง “สวัสดีแอมป์-พลัส: ชุดตรวจเชิงสีชนิดใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์ เพื่อเป็นต้นแบบชุดตรวจแห่งอนาคตสำหรับรับมือกับโรคอุบัติใหม่อย่างครอบคลุม (Sawasdee-Amp-Plus: AI-driven colorimetric nucleic acid test kit for a large-scale, point-of-care screening of future emerging diseases)” โดยผลงานวิจัยดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างคณะผู้วิจัย ศช. ประกอบด้วย นางวรรณสิกา เกียรติปฐมชัย นายระพีพัฒน์ สุวรรณกาศ และนางสาวจันทนา คำภีระ ทีมวิจัยเทคโนโลยีวิศวกรรมชีวภาพและการตรวจวัด กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยและการค้นหาสารชีวภาพ และนางสาวแสงจันทร์ เสนาปิน ทีมวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพปลาและกุ้ง กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพสัตว์น้ำแบบบูรณาการ คณะผู้วิจัยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (ศน.) ประกอบด้วย นายสุรัฐ ธีรพิทยานนท์ และนายอิทธิ ฉัตรนันทเวช และคณะผู้วิจัยโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จังหวัดนครปฐม ประกอบด้วย นายกุลพัชร ชนานำ นายคุณัชญ์ คงทอง และนางสาวปกิตตา เกรียงเกษม
ผลงานวิจัย “Sawasdee-Amp-Plus” เป็นชุดตรวจเชิงสีชนิดใหม่ด้วยเทคนิคแลมป์เปลี่ยนสีในขั้นตอนเดียวร่วมกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยใช้เชื้อไวรัส Tilapia Lake virus (TiLV) ที่ก่อโรคในปลานิลและปลาทับทิมเป็นโมเดลในการศึกษา โดยชุดตรวจที่ได้พัฒนาขึ้นใช้สี Turquoise blue (สีน้ำเงิน) ในการตรวจสอบการเกิดปฏิกิริยาการเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรม (DNA และ RNA) ในหลอดทดลองด้วยเทคนิคแลมป์ ในกรณีที่มีการปนเปื้อนของเชื้อก่อโรค สีบ่งชี้จะเปลี่ยนจากสีน้ำเงินเป็นสีเขียว หรือหากไม่มีการปนเปื้อนของเชื้อก่อโรค สีจะไม่เปลี่ยนแปลง (อนุสิทธิบัตร เรื่อง สูตรสีบ่งชี้การเปลี่ยนแปลงค่ากรด-เบส สำหรับใช้ตรวจสอบการเกิดปฏิกิริยาการเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรมในหลอดทดลอง เลขที่คำขอ 2203001002 เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2565) ชุดตรวจ “Sawasdee-Amp-Plus” สามารถตรวจผลการทดสอบได้ 2 รูปแบบ ได้แก่ 1) การอ่านผลด้วยตาเปล่า และ 2) การใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (ผ่านแอปพลิเคชันในโทรศัพท์เคลื่อนที่) สำหรับขั้นตอนการใช้งานชุดตรวจ “Sawasdee-Amp-Plus” จะต้องบดตัวอย่างในน้ำยาสกัดโดยใช้ไม้ตะเกียบหรือแทบบด ตั้งทิ้งไว้ที่อุณหภูมิห้อง 2 – 3 นาที และเจือจางตัวอย่างด้วยน้ำ (ต่อ 100 เท่า) จากนั้นหยดสารสกัดจากตัวอย่าง ปริมาตร 2 ไมโครลิตร ลงในน้ำยา cLAMP และบ่มในกระติกน้ำร้อน ณ อุณหภูมิ 65 ºC ระยะเวลา 45 – 60 นาที และสามารถอ่านผลจากการดูสีของน้ำยาทดสอบ (สีเขียว = ผลบวก/ติดเชื้อ; น้ำเงิน = ผลลบ/ปลอดเชื้อ) ในกรณีที่มีตัวอย่างจำนวนมาก เช่น 1,000 ตัวอย่าง ขึ้นไป การอ่านผลด้วยตาเปล่าจะทำให้ ไม่สะดวกและใช้เวลานาน ดังนั้น คณะผู้วิจัยจึงนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาประยุกต์ใช้ในการอ่านผลของการใช้ชุดตรวจฯ หลังจากทดสอบด้วยปฏิกิริยาแลมป์แล้ว ต้องเรียงหลอดตัวอย่างทั้งหมดบนกระดาษหรือพื้นเรียบ จากนั้นเปิดโปรแกรม Peer-AI detector (https://lamp-detection.peer-ai.com/tabs/detect) บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือ Tablet PC และถ่ายภาพ จากนั้นกดปุ่มวิเคราะห์ผล ระบบจะสรุปผลว่า ตัวอย่างใดให้ผลบวกหรือผลลบ (ความสามารถในการประมวลผลเท่ากับ 10,000 ตัวอย่าง/นาที บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ iPhone 14 Pro Max) และนำข้อมูลออก (export) เพื่อจัดเก็บข้อมูลในรูปแบบต่าง ๆ
ลักษณะเด่นของชุดตรวจ “Sawasdee-Amp-Plus” คือ สามารถใช้งานง่าย ต้นทุนการผลิตไม่สูง ราคาถูก มีประสิทธิภาพสูงสำหรับการตรวจหาเชื้อก่อโรคในตัวอย่างที่สนใจ สามารถนำไปใช้งานในระดับภาคสนาม และการตรวจระดับใหญ่ (large-scale testing) ซึ่งต้นแบบชุดตรวจ “Sawasdee-Amp-Plus” ที่พัฒนาขึ้นสามารถนำไปใช้ตรวจหาเชื้อไวรัส TiLV ในปลานิลและปลาทับทิม ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการเฝ้าระวังการระบาดของโรคติดเชื้อและช่วยลดการสูญเสียทางเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงปลานิลและปลาทับทิม นอกจากนี้ ต้นแบบชุดตรวจ “Sawasdee-Amp-Plus” ที่พัฒนาขึ้น สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการตรวจคัดกรองโรคติดเชื้ออุบัติใหม่/อุบัติซ้ำที่เกิดจากเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย และเชื้อปรสิตชนิดอื่น ด้วยการใช้เทคโนโลยีแลมป์เปลี่ยนสี โดยมีสี Turquoise blue (TqB) เป็นสีบ่งชี้ปฏิกิริยา ชุดตรวจ “Sawasdee-Amp-Plus” ที่พัฒนาขึ้น สามารถพัฒนาต่อเป็นชุดตรวจแบบที่บุคคลทั่วไปสามารถใช้งานได้เอง (home-use/self-test) ซึ่งถือเป็นการเตรียมพร้อมรับมือการระบาดของโรคอุบัติใหม่ในอนาคต (ตอบโจทย์การใช้งานเชิงรุก ทดแทนวิธีการตรวจด้วยเทคนิค PCR ซึ่งมีขั้นตอนซับซ้อน ต้องดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญ และต้องใช้เครื่องมือในห้องปฏิบัติการ)
รูปภาพแสดงขั้นตอนการใช้ชุดตรวจ “Sawasdee-Amp-Plus” และการอ่านผลปฏิกิริยาแลมป์ด้วยตาเปล่า และการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์
10. ผลงานวิจัยร่วมนำโดย ดร. สมศักดิ์ สุภสิทธิ์มงคล และคณะ ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ ร่วมด้วย ดร.สิทธิรักษ์ รอยตระกูล และ ดร.ฐนียา รอยตระกูล ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ผลงานวิจัยเรื่อง “Encase: นวัตกรรมเครื่องผลิตสารฆ่าเชื้ออิเล็กโทรไลต์” รางวัลประกาศเกียรติคุณ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์
รางวัลการวิจัยแห่งชาติ: รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น รางวัลประกาศเกียรติคุณ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ประจำปีงบประมาณ 2566 จากผลงานวิจัยเรื่อง “Encase: นวัตกรรมเครื่องผลิตสารฆ่าเชื้ออิเล็กโทรไลต์” ซึ่งเป็นผลงานวิจัยของคณะวิจัยจากศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ ประกอบด้วย ดร. สมศักดิ์ สุภสิทธิ์มงคล ดร.วิศาล ลีลาวิวัฒน์ ดร.ชัยยุทธ แซ่กัง ดร.สุมิตรา จรสโรจน์กุล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ นักวิจัยจากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ ประกอบด้วย ดร.ศุภกิจ วรศิลป์ชัย และนักวิจัยจากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ประกอบด้วย ดร.สิทธิรักษ์ รอยตระกูล และ ดร.ฐนียา รอยตระกูล
ผลงานวิจัยดังกล่าวเป็นการพัฒนาเครื่องผลิตสารฆ่าเชื้ออิเล็กโทรไลต์จากสารละลายโซเดียมคลอไรด์ (NaCl) โดยการเปลี่ยนสารละลายโซเดียมคลอไรด์ให้เป็นน้ำอิเล็กโทรไลต์สำหรับฆ่าเชื้อ ประกอบด้วยสามส่วนหลักที่ทำงานสอดคล้องและสัมพันธ์กับการเกิดปฏิกิริยาไฟฟ้าเคมีภายใน ได้แก่ ชุดผสมสารตั้งต้น ชุดผลิตสารละลายอิเล็กโทรไลต์ และชุดปรับสภาพสารละลายอิเล็กโทรไลต์ โดยเครื่องดังกล่าวสามารถผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อ “ENERclean” ประกอบด้วยกรดไฮโปคลอรัส (HOCl) เป็นองค์ประกอบหลัก ที่มีระดับความเป็นกรดด่างในช่วงเป็นกรดอ่อน (pH 4-6) ปริมาณคลอรีนมากกว่า 400 ppm และค่า Oxidation-Reduction Potential ในช่วง 900-1200 mV ซึ่งกรด HOCl เป็นกรดอ่อนๆ ตามธรรมชาติชนิดเดียวกับภูมิคุ้มกันในเม็ดเลือดขาวของมนุษย์ เป็นสารออกซิไดซ์ที่มีฤทธิ์ในการทำลายเซลล์ของเชื้อโรค เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อ SARS-CoV-2 บนพื้นผิวสิ่งแวดล้อมที่ไม่มีรูพรุนได้ 99.9% ตามมาตรฐาน ASTM E1053-20 และมีฤทธิ์ยับยั้ง/ฆ่าเชื้อไวรัสไข้เลือดออก เชื้อรา และแบคทีเรียส่วนใหญ่ที่พบในโรงพยาบาลผ่านตามเกณฑ์มาตรฐานการทดสอบผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรค (AOAC 955.14, 955.15, 955.17 และ 964.02) โดยเครื่องผลิตสารฆ่าเชื้ออิเล็กโทรไลต์ (Encase) มีอัตราการผลิตไม่ต่ำกว่า 15 ลิตร/ชั่วโมง ใช้กำลังไฟฟ้า 150 วัตต์ต่อชั่วโมงต่อ NaCl 1 กิโลกรัม ผลงานวิจัยดังกล่าวสามารถประยุกต์ใช้กับงานด้านการแพทย์และอุตสาหกรรมอาหาร ปัจจุบันคณะผู้วิจัยได้ส่งมอบเครื่อง “Encase” ให้กับโรงพยาบาล จำนวน 10 แห่ง และส่งมอบน้ำยาฆ่าเชื้อ “ENERclean” ให้กับหน่วยงานราชการและสถานศึกษาไม่น้อยกว่า 1,500 ลิตร
รางวัลการวิจัยแห่งชาติ : ประเภทรางวัลวิทยานิพนธ์ ประจำปีงบประมาณ 2567
รางวัลระดับดี จำนวน 1 รางวัล ได้แก่
- ดร.ปภล ม่วงสนิท ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ วิทยานิพนธ์เรื่อง “การพัฒนาโครงสร้างไฮโดรเจลสามมิติที่ประกอบไปด้วยเซลล์บุผนังหลอดเลือดและเซลล์ชวานน์แบบเรียงตัวสำหรับวิศวกรรมเนื้อเยื่อเส้นประสาทส่วนปลาย” รางวัลระดับดี สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์
ดร. ปภล ม่วงสนิท นักวิจัย ทีมวิจัยไวรัสวิทยาและเซลล์เทคโนโลยี กลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ : รางวัลผลงานวิจัย ระดับดี สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ประจำปี 2567 จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จากผลงานวิจัยเรื่อง “การพัฒนาโครงสร้างไฮโดรเจลสามมิติที่ประกอบไปด้วย เซลล์บุผนังหลอดเลือดและเซลล์ชวานน์แบบเรียงตัวสำหรับวิศวกรรมเนื้อเยื่อเส้นประสาทส่วนปลาย” ซึ่งเป็นผลงานวิจัยที่เป็นวิทยานิพนธ์ของการศึกษาระดับปริญญาเอก ณ University College London สหราชอาณาจักร ภายใต้การดูแลของ Professor James Phillips
ผลงานวิจัยดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงการพัฒนาเส้นประสาทเทียมซึ่งประกอบด้วยโครงสร้างคล้ายเส้นเลือดที่เรียงตัวในไฮโดรเจลคอลลาเจน และพิสูจน์ให้เห็นเป็นครั้งแรกว่าโครงสร้างดังกล่าวช่วยฟื้นฟูเส้นประสาทที่บาดเจ็บและกระตุ้นการสร้างเส้นเลือดมาหล่อเลี้ยงเซลล์ได้อีกด้วย รวมทั้งประยุกต์ใช้เทคนิค Gel Aspiration-Ejection (GAE) ซึ่งสามารถสร้างโครงสร้างเซลล์ชวานน์ที่เรียงตัวในไฮโดรเจลคอลลาเจนได้ และผลิตภัณฑ์ที่ได้ยังมีลักษณะรูปร่าง และสมบัติหนืดยืดหยุ่น (viscoelastic behaviour) ใกล้เคียงกับเส้นประสาทไซอาติกจากหนูแรท ยิ่งไปกว่านั้นโครงสร้างนี้ยังสามารถช่วยฟื้นฟูเส้นประสาทได้อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มท่อกลวงจากการทดสอบในสัตว์ทดลอง เทคนิคดังกล่าวจึงเป็นเทคนิคที่มีศักยภาพในการนำไปพัฒนาเส้นประสาทเทียมที่มีโครงสร้างคล้ายเส้นเลือดที่เรียงตัว เพื่อช่วยในการรักษาการบาดเจ็บของเส้นประสาทส่วนปลายในอนาคต โดยนวัตกรรมเส้นประสาทเทียมที่ถูกพัฒนาขึ้นจะเข้ามาทดแทนการใช้เส้นประสาทจากผู้ป่วยเอง และสามารถผลิตให้มีขนาดและปริมาณที่เพียงพอรองรับจำนวนผู้ป่วย อีกทั้งลดความเสี่ยงการติดเชื้อจากการผ่าตัดเพิ่มเติมในผู้ป่วยเพื่อนำเอาเส้นประสาทมาปลูกถ่ายอีกด้วย