BIOTEC

ทีมวิจัยวัณโรค

ข้อมูลเกี่ยวกับทีมวิจัย

ทีมวิจัยวัณโรค กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพระดับโมเลกุลทางการแพทย์ มุ่งเน้นการศึกษาวิจัยและประยุกต์ใช้องค์ความรู้พื้นฐานทางจุลชีววิทยาของเชื้อวัณโรคและชีววิทยาโมเลกุลเพื่อ แก้ปัญหาวัณโรคในประเทศ ซึ่งมีทิศทางงานวิจัยด้านวัณโรคแบ่งออกเป็น 3 ด้านหลัก ได้แก่
1. การพัฒนาวิธีการตรวจวินิจฉัยวัณโรค
2. การศึกษาระบาดวิทยาของเชื้อวัณโรคในประเทศไทย
3. การพัฒนาวัคซีนป้องกันวัณโรค

สถานภาพปัจจุบัน

1. การพัฒนาวิธีการตรวจวินิจฉัยวัณโรค
มุ่งเน้นการศึกษาหาตัวบ่งชี้ทางชีวภาพที่มีความจำเพาะกับวัณโรคแพร่เชื้อและวัณโรคแฝง และสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับกลไกการดื้อยา และการกระจายของยีนดื้อยาของเชื้อวัณโรคที่แยกได้ในประเทศสำหรับยาต้านวัณโรคกลุ่มต่าง ๆ ทั้งกลุ่มยาหลัก ได้แก่ ไอโซไนอะซิด ไรแฟมพิซิน ไพราซินาไมด์ อีแทมบูทอล และสเตร็ปโตมัยซีน และกลุ่มยาสำรอง ได้แก่ ฟลูออโรควิโนโลน อะมิกาซิน คานามัยซิน คาพรีโอมัยซิน เอทิโอนาไมด์ พารา-อะมิโนซาลิซิลิก แอซิด หรือพีเอเอส และคลาริโทรมัยซิน องค์ความรู้ที่ได้จะนำไปประยุกต์ใช้สำหรับพัฒนาวิธีการตรวจวินิจฉัยวัณโรคและวัณโรคดื้อยาในอนาคต

1.1. การดื้อยาและกลไกการดื้อยาของเชื้อวัณโรค
ในปัจจุบันมุ่งเน้นการศึกษาลำดับนิวคลีโอไทด์ของเชื้อวัณโรคดื้อยากลุ่มฟลูออโรควิโนโลน สเตรปโตมัยซิน พารา-อะมิโนซาลิซิลิก แอซิด และยาต้านวัณโรคชนิดใหม่  ได้แก่ เบดาควิลีนและเดลามานิด ด้วยเทคนิค next-generation sequencing (NGS) เพื่อค้นหายีนดื้อยาใหม่ ๆ ที่ส่งผลให้เชื้อดื้อต่อยาต้านวัณโรคชนิดต่างๆ นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นการพัฒนาวิธี biomarker-based assays สำหรับวินิจฉัยวัณโรคในคนและสัตว์สำหรับทำนายการเป็นวัณโรคระยะติดเชื้อ

1.2. การพัฒนาวิธีการตรวจวินิจฉัยวัณโรคด้วยวิธีทางภูมิคุ้มกันวิทยา
มุ่งเน้นการศึกษาโปรตีนแอนติเจนสำหรับนำมาใช้พัฒนาวิธีการตรวจวินิจฉัยวัณโรคด้วยวิธีทางภูมิคุ้มกันวิทยา เพื่อบ่งชี้การติดเชื้อวัณโรคทั้งในระยะแพร่เชื้อ (active TB) และระยะแฝง (latent TB) ทั้งในคนและในสัตว์และได้พัฒนาวิธีการตรวจวินิจฉัยวัณโรคระยะแฝงและระยะแพร่เชื้อในคนด้วยเทคนิค multi-antigen print mmunoassay (MAPIA) และ Enzyme-linked Immunosorbent assay (ELISA) ให้มีความไวและความจำเพาะมากยิ่งขึ้น

2. การศึกษาระบาดวิทยาของเชื้อวัณโรคในประเทศไทย
มุ่งเน้นการศึกษาด้านระบาดวิทยาของเชื้อวัณโรคที่พบในประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วยการศึกษาความหลากหลายของสายพันธุ์ของเชื้อวัณโรค กลุ่มเชื้อระบาดที่กำลังแพร่กระจายในชุมชนรูปแบบของการดื้อยาของเชื้อวัณโรค และปัจจัยทางคลินิคของผู้ป่วยที่สัมพันธ์กับการระบาดและความรุนแรงของโรค โดยการศึกษาดังกล่าวได้อาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลทั้งจีโนมที่ได้จากเทคโนโลยี NGS ร่วมกับข้อมูลทางคลินิคและข้อมูลเชิงระบาดวิทยาของผู้ป่วย ทีมวิจัยยังได้พัฒนากระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลทั้งจีโนมสำหรับจำแนกสายพันธุ์และทำนายการดื้อยาของเชื้อวัณโรค อีกทั้งยังได้สร้างฐานข้อมูลความหลากหลายทางพันธุกรรมของเชื้อวัณโรคและข้อมูลสนิปส์ที่ใช้ในการทำนายการดื้อยา เพื่อใช้เป็นองค์ความรู้สำหรับศึกษาระบาดวิทยาของเชื้อวัณโรคในประเทศไทยต่อไปทีมวิจัยคาดว่าจะสามารถนำเอาองค์ความรู้ต่างๆ จากการศึกษามาช่วยวิเคราะห์พลศาสตร์การแพร่กระจายของเชื้อในชุมชน และทำนายผลการรักษาได้อย่างรวดเร็วและอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นซึ่งจะช่วยให้อุบัติการณ์การแพร่กระจายของเชื้อวัณโรคในประเทศไทยลดลง

3. การพัฒนาวัคซีนป้องกันวัณโรค
มุ่งเน้นการพัฒนาการสร้างวัคซีนวัณโรครูปแบบใหม่ในรูปของรีคอมบิแนนท์บีซีจีที่เพิ่มการแสดงออกของยีนจำเพาะของเชื้อวัณโรคในระยะแพร่เชื้อ และระยะแฝง โดยทำการปรับปรุงสายพันธุ์เชื้อ Tokyo 172-1 ที่ใช้ผลิตวัคซีนบีซีจี ที่ปัจจุบันใช้อยู่ภายในประเทศและผลิตจากสถานเสาวภา สภากาชาดไทย

ผลงานเด่น ทีมวิจัยวัณโรค

–  วิธีการตรวจวินิจฉัยวัณโรคในสัตว์ เช่น ช้างและลิง
–  วิธีทางอณูชีววิทยาสำหรับตรวจวัณโรคดื้อยา
–  องค์ความรู้เกี่ยวกับวัณโรคดื้อยาและยีนดื้อยา
–  กระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลทั้งจีโนมของเชื้อวัณโรคและการใช้ประโยชน์จากข้อมูลจีโนม

ทีมวิจัยวัณโรค

002026

เทอดศักดิ์ พราหมณะนันทน์

นักวิจัยอาวุโส (หัวหน้าทีมวิจัย)

002069

ภมรี บิลมาศ

ผู้ช่วยวิจัยอาวุโส

003073

ธาดา จูฑะโยธิน

ผู้ช่วยวิจัยอาวุโส

004528

ศรินยา ใจตรง

ผู้ช่วยวิจัย

ข้อมูลการติดต่อ

ทีมวิจัยวัณโรค
กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพระดับโมเลกุลทางการแพทย์

ดร. เทอดศักดิ์ พราหมณะนันทน์
เบอร์โทร 02-564-6700 หรือ 02-201-5881
therdsak@biotec.or.th