ไบโอเทค สวทช. พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตยีสต์โพรไบโอติก สำหรับใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ เพื่อทดแทนการใช้ยาปฏิชีวนะ

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ร่วมกับ บริษัท เอเชียสตาร์ เทรด จำกัด พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตยีสต์โพรไบโอติก สำหรับใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ เพื่อทดแทนการใช้ยาปฏิชีวนะ โดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพด้านจุลินทรีย์ และเทคโนโลยีชีวกระบวนการ ตั้งแต่ขั้นตอนการคัดเลือกสายพันธุ์ยีสต์ ที่มีคุณสมบัติโพรไบโอติกที่ดี การพัฒนากระบวนการผลิตเซลล์ยีสต์ การผสมสูตรผลิตภัณฑ์ การตรวจสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์ และการทดสอบการนำไปใช้กับสัตว์ นับเป็นเทคโนโลยีของประเทศ ที่ช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฐานชีวภาพ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ และยังพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์โพรไบโอติก เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้อีกด้วย

โพรไบโอติก คือ จุลินทรีย์ที่มีชีวิต ซึ่งเมื่อร่างกายได้รับในปริมาณที่เพียงพอจะทำให้เกิดผลที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยเฉพาะมีประโยชน์อย่างมากต่อระบบทางเดินอาหาร ซึ่งช่วยในการรักษาหรือป้องกันการติดเชื้อของระบบทางเดินอาหาร รวมทั้งช่วยต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) และต้านการอักเสบส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมนุษย์และสัตว์ นอกจากนี้ มีงานวิจัยรายงานถึงการเชื่อมโยงระหว่างจุลินทรีย์โพรไบโอติกในระบบทางเดินอาหารและโรคต่างๆ พบว่า จุลินทรีย์บางสายพันธุ์สามารถช่วยลดคอเลสเตอรอล ลดน้ำตาลในเลือดได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของจุลินทรีย์ที่นำมาใช้ โดยต้องผ่านการคัดเลือกสายพันธุ์ ทดสอบคุณสมบัติ และทำการทดลองก่อนนำมาใช้จริง

โพรไบโอติกที่มีประสิทธิภาพนั้น ควรมีสมบัติทนต่อสภาวะแวดล้อมของระบบทางเดินอาหารได้เป็นอย่างดี จุลินทรีย์โพรไบโอติกที่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย คือ จุลินทรีย์ในกลุ่มแลคทิกแบคทีเรีย ได้แก่ แล็คโตบาซิลลัส (Lactobacillus) บิฟิโดแบคทีเรีย (Bifidobacteria) และยีสต์ที่ได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นโพรไบโอติกที่ดีและผลิตเป็นการค้า คือ Saccharomyces boulardii ซึ่งการนำยีสต์มาผลิตเป็นอาหารโพรไบโอติกมีข้อได้เปรียบแบคทีเรียกลุ่มแลคทิก คือ ยีสต์สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในสภาพแวดล้อมที่มีค่าความเป็นกรด-เบสได้ในช่วงที่กว้าง ทนต่อเอนไซม์และน้ำดีในทางเดินอาหาร ทนต่ออุณหภูมิในร่างกายของผู้ให้อาศัย ทนต่อยาปฎิชีวนะ นอกจากนี้ ยีสต์ไม่ทำให้เกิดการถ่ายทอดยีนดื้อยาปฏิชีวนะเข้าสู่แบคทีเรียก่อโรคได้อีกด้วย การใช้ยีสต์โพรไบโอติกจึงปลอดภัยสำหรับผู้ป่วยที่อยู่ในระหว่างการได้รับยาปฏิชีวนะ และมีการนำยาปฏิชีวนะมาใช้ในการรักษาโรคต่างๆอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะการนำมาใช้กับฟารม์เพาะเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจ ทำให้ต้องสูญเสียเงินจำนวนมากและมีต้นทุนการผลิตสูงขึ้น นอกจากนี้การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างต่อเนื่อง ยังทำให้เกิดการดื้อยาของเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค รวมทั้งหากมีการตกค้างของยาปฏิชีวนะในผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ อาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค และส่งผลกระทบด้านการส่งออกผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์  อันจะเป็นหนึ่งในสาเหตุของการกีดกันทางการค้าจากตลาดต่างประเทศ ดังนั้น การใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์โพรไบโอติก จึงเป็นทางเลือกหนึ่งในการช่วยส่งเสริมสุขภาพ บรรเทาและรักษาโรค โดยเฉพาะโรคระบบทางเดินอาหารของคนและสัตว์

ดร.กอบกุล เหล่าเท้ง ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยส่วนผสมฟังก์ชั่นและนวัตกรรมอาหาร ไบโอเทค สวทช. ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันมีการนำโพรไบโอติกมาใช้ในปศุสัตว์ โดยการใส่ในอาหารสัตว์เพื่อช่วยลดการใช้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งวิธีนี้ส่งผลดีใน 3 มิติด้วยกัน มิติแรก คือ สัตว์จะมีสุขภาพที่แข็งแรง ลูกสุกรหลังหย่านมมีอัตราเจ็บป่วยและตายน้อยลง อัตราการเจริญเติบโตสูงกว่าปกติ น้ำหนักเฉลี่ยต่อวันดีขึ้น มิติที่สองคือ ส่งผลดีต่อผู้ประกอบการที่ทำให้ไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงสัตว์ ประหยัดค่าใช้จ่าย ได้เนื้อสัตว์ที่ปลอดภัยต่อการบริโภคและสามารถส่งออกจำหน่ายได้ในต่างประเทศ มิติสุดท้าย คือ ระบบนิเวศ เมื่อไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะส่งผลให้ไม่มีสารตกค้างในสิ่งแวดล้อม ที่อาจจะมาจากมูลสัตว์หรือการทำความสะอาดซึ่งอาจมีการปนเปื้อนได้ และลดโอกาสในการดื้อยาของเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค ดังนั้น ในอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร ควรใช้โพรไบโอติกอย่างถูกวิธี มีการคัดเลือกสายพันธุ์อย่างเหมาะสม มีการผลิตที่ได้มาตรฐาน ใช้บรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมต่อคุณภาพผลิตภัณฑ์ และมีระบบการขนส่งที่ดีเพื่อให้คงคุณสมบัติของโพรไบโอติกมีชีวิตตลอดอายุผลิตภัณฑ์ส่งจนถึงมือผู้บริโภค  

ดร.กอบกุล ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จากความร่วมมือในงานวิจัยของ บริษัท เอเชียสตาร์ เทรด จำกัด และไบโอเทค โดยทีมวิจัยเทคโนโลยีชีวกระบวนการอุตสาหกรรม ในพัฒนาการผลิตยีสต์โพรไบโอติกสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมอาหารคนและสัตว์ ที่ครอบคลุมตั้งแต่การคัดเลือกสายพันธุ์ยีสต์ การทดสอบคุณสมบัติของโพรไบโอติก การพัฒนากระบวนการผลิตเซลล์ยีสต์โพรไบโอติคในระดับห้องปฏิบัติการ และขยายขนาดการผลิตผลิตภัณฑ์ยีสต์โพรไบโอติกในระดับอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมทั้งกระบวนการต้นน้ำ (USP) และกระบวนการปลายน้ำ (DSP) ได้แก่ การผลิตเซลล์ด้วยการหมักแบบเหลว (submerged fermenation) การเก็บเกี่ยวเซลล์ (cell harvesting) การทำแห้ง (cell drying) และการพัฒนาสูตรผลิตภัณฑ์ (product formulation) เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ยีสต์โพรไบโอติกที่มีคุณลักษณะตามสเปคที่กำหนดภายใต้มาตรฐาน GMP (Good Manufacturing Practice; GMP) สำหรับใช้เป็นสารเสริมอาหารในคนและสัตว์ ปัจจุบันได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมปศุสัตว์เป็นผลิตภัณฑ์สารเสริมชีวนะในสัตว์แล้ว ภายใต้แบนด์ SYMPRO plus และ SYMPRO star และอยู่ในระหว่างพัฒนาผลิตภัณฑ์ยีสต์โพรไบโอติกในอาหารต่อไป

ซึ่งผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกยีสต์ที่ใช้ในท้องตลาดในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศ และมีราคาค่อนข้างสูง ดังนั้นการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตยีตส์โพรไบโอติกในประเทศ ให้มีคุณภาพทัดเทียมสินค้านำเข้าและเป็นไปตามมาตรฐานที่ดีของการผลิตที่ดี จึงมีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมอาหารและอาหารสัตว์ของประเทศ ที่จะช่วยลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งยกคุณภาพชีวิตของประชากรให้ดีขึ้น