เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2565 สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร จัดงานประกาศผลการประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ ครั้งที่ 24 หรือ Young Scientist Competition 2022 (YSC2022) รอบชิงชนะเลิศในรูปแบบออนไลน์
จาก 1,269 โครงงานทั่วประเทศ “โครงงานการพัฒนาต้นแบบชุดทดสอบเชิงสีชนิดใหม่สำหรับไวรัสทั้งชนิด DNA และ RNA เพื่อรับมือกับโรคอุบัติใหม่ในอนาคตอย่างครอบคลุม” ซึ่งมีนักวิจัยไบโอเทค เป็นที่ปรึกษาภายนอก ได้รับรางวัลที่ 1 สาขาเคมี และได้รับสิทธิเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันในระดับนานาชาติ รายการ Regeneron ISEF 2022 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7 -13 พฤษภาคม 2565 ณ เมืองแอตแลนต้า รัฐจอร์เจีย ประเทศสหรัฐอเมริกา อีกด้วย
โดยโครงงานดังกล่าว เป็นผลงานของ นายกุลพัชร ชนานำ นายคุณัชญ์ คงทอง และนางสาวปกิตตา เกรียงเกษม นักเรียนจากโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ คือ ดร.เกียรติภูมิ รอดพันธ์ อาจารย์สาขาวิชาเคมี โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ และ ดร.วันเสด็จ เจริญรัมย์ นักวิจัย ทีมวิจัยเทคโนโลยีวิศวกรรมชีวภาพและการตรวจวัด กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยและการค้นหาสารชีวภาพ ไบโอเทค
ดร.วันเสด็จ และทีมวิจัย ประกอบด้วย คุณวรรณสิกา เกียรติปฐมชัย หัวกน้าทีมวิจัยเทคโนโลยีวิศวกรรมชีวภาพและการตรวจวัด คุณจันทนา คำภีระ และคุณรพีพัฒน์ สุวรรณกาศ มีบทบาทในการให้คำปรึกษา และแนวทางในการพัฒนาเค้าโครงงาน จัดหาแหล่งค้นคว้าข้อมูล รวมถึงวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ พร้อมทั้งให้นักเรียนได้เข้ามาทำการทดลองในห้องปฏิบัติการจริง ณ ศูนย์ไบโอเทค ตลอดจนกำกับติดตามการทำงานและประเมินผลโครงงานอย่างใกล้ชิด จนโครงการงานสำเร็จลุล่วงตามเป้าประสงค์ นับเป็นอีกบทบาทหนึ่งของนักวิจัยไบโอเทคในการบ่มเพาะคนรุ่นใหม่ให้เป็นผู้ที่มีความคิดริเริ่ม สร้างสรรค์ และความเป็นเลิศทางวิทยาศาสตร์ สร้างแรงบัลดาลใจให้เยาวชนในการพัฒนาชาติด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่อไป
การประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ จัดโดย สวทช. ร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และพันธมิตร ได้แก่ ศูนย์ประสานงานมหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยศิลปากร โดยแบ่งการแข่งขันออกเป็น 9 สาขา ได้แก่ คณิตศาสตร์ คอมพิวเตอร์ เคมี ชีววิทยา ฟิสิกส์ พลังงานและดาราศาสตร์ วัสดุศาสตร์ วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม วิศวกรรมศาสตร์ และสหสาขา โดยเป้าหมายสูงสุดคือ การสนับสนุนให้เยาวชนไทยได้มีโอกาสพัฒนาทักษะความรู้ความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นนวัตกรรมให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล พร้อมกับสร้างเยาชนที่มีคุณภาพเพื่อขับเคลื่อนประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป