การจัดงานเสวนา “วิกฤติข้าวสาลี และผลกระทบต่อประเทศไทย : โอกาสและความท้าทายของผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เพื่อทดแทนธัญพืช”

เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2565 สวทช. โดยฝ่ายบริหารวิจัยเพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ของ ร่วมกับ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สมาคมแป้งมันสำปะหลังไทย และหน่วยเครือข่ายวิจัยทั้งภาครัฐและเอกชน จัดงานเสวนา “วิกฤติข้าวสาลี และผลกระทบต่อประเทศไทย : โอกาสและความท้าทายของผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เพื่อทดแทนธัญพืช”  เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์จากมันสำปะหลัง นำไปสู่การส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากฟลาวมันสำปะหลัง ตลอดจนสร้างความร่วมมือในการพัฒนาและต่อยอดงานวิจัยเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์จากมันสำปะหลังด้วยการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม  โดยงานเสวนาดังกล่าวจัดขึ้น ณ ห้องประชุมออดิทอเรียม ชั้น 7 อาคารเคเอกซ์ (Knowledge Exchange Center) กรุงเทพมหานคร  และผ่านระบบออนไลน์

งานเสวนาในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ นางอนงค์  ไพจิตร ประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร ดร.วีรวัฒน์ เลิศวนวัฒนา กรรมการผู้จัดการบริษัท สยามมอดิฟายด์ สตาร์ช จำกัด นางสาวสุรียส โควสุรัตน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อุบล ไบโอเอทานอล จำกัด (มหาชน) และ ผศ.ดร.ณัฐธิญา เบือนสันเทียะ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) มาร่วมให้ข้อมูลในหลากหลายประเด็น อาทิ วิกฤติข้าวสาลีและผลกระทบต่อประเทศไทย  อุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลังจะต้องปรับรูปแบบอย่างไรในอนาคต  ฟลาวมันสำปะหลังอินทรีย์ และ การใช้ประโยชน์จากฟลาวมันสำปะหลัง เป็นต้น เนื่องจากคุณสมบัติของแป้งสาลีที่หาแป้งอื่นทดแทนได้ยาก เพราะเป็นแป้งที่มีโปรตีนสูง มีราคาถูก และเมื่อนำไปประกอบอาหารมีคุณสมบัติที่สำคัญ คือ เหนียว นุ่มและฟู ซึ่งเกิดจากโปรตีนกลูเตน อย่างไรก็ตาม ยังมีกลุ่มผู้ป่วยโรคเซลิแอคและโรคแพ้กลูเตน ซึ่งไม่สามารถบริโภคอาหารที่มีส่วนประกอบของกลูเตนได้ เป็นโอกาสของแป้งทดแทน เช่น ฟลาวจากมันสำปะหลัง ซึ่งมีคุณสมบัติใกล้เคียงกับแป้งสาลี นอกจากนี้ยังสามารถผลิตได้ภายในประเทศไทยอีกด้วย ซึ่งนำไปสู่ความมั่นคงทางอาหารหรือ Food Security เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ต่างๆ เช่น โรคระบาดทั่วโลกและภาวะสงคราม เป็นต้น

ในโอกาสนี้ ดร.เกื้อกูล ปิยะจอมขวัญ รองผู้อำนวยการ ไบโอเทค ได้ร่วมบรรยายในหัวข้อ “ฟลาวมันสำปะหลัง : ทางเลือกสำหรับผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพ” ซึ่งเป็นการพัฒนากระบวนการผลิตฟลาวมันสำปะหลังระดับอุตสาหกรรมจากมันสำปะหลังชนิดขมที่มีปริมาณไซยาไนด์สูง (พันธุ์เกษตรศาสตร์ 50) โดยประยุกต์ใช้เครื่องจักรในกระบวนการผลิตแป้งมันสำปะหลัง ทำให้ลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมากขึ้น ฟลาวมันสำปะหลังที่ได้มีปริมาณไซยาไนด์ต่ำอยู่ในระดับที่ปลอดภัยต่อการบริโภค สามารถนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยว ผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ ผลิตภัณฑ์ขนมไทย และทดแทนแป้งสาลีบางส่วนในผลิตภัณฑ์เส้นบะหมี่ เป็นต้น

 

นอกจากนี้ยังมีการจัดนิทรรศการนำเสนอผลงานด้านมันสำปะหลังจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากมาย ได้แก่ 1) หน่วยปฏิบัติการเทคโนโลยีแปรรูปมันสำปะหลังและแป้ง (หน่วยงานความร่วมมือระหว่างไบโอเทคและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) 2) สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 3) สาขาอาหารและโภชนาการ ภาควิชาคหกรรมศาสตร์ คณะเกษตรมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 4) ห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีคาร์โบไฮเดรต มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 5) สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 6) ศูนย์วิจัย BCG เพื่อเศรษฐกิจชนบทยั่งยืน มหาวิทยาเทคโนโลยี 7) บริษัท สยามมอดิฟายด์ สตาร์ช จำกัด 8) บริษัท อุตสาหกรรมแป้งมันบ้านโป่ง จำกัด 9) บริษัท อุบล ไบโอ เอทานอล จำกัด (มหาชน) และ 10) บริษัท ชอไชวัฒน์ อุตสาหกรรม จำกัด